วันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2567 14:05 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> การทักทายด้วยการกล่าวและรับสลาม
การทักทายด้วยการกล่าวและรับสลาม

การทักทายด้วยการกล่าวและรับสลาม

 การทักทายด้วยการกล่าวและรับสลาม

اَلْحَمْدُ ِللهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَتُوْبُ إِلَيْهِ وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا . وَمِنْ سَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا . مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ . وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلاَ هَادِيَ لَهُ . أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَشَرِيْكَ لَهُ . لَهُ الْمُلْكُ وَلَهُ الْحَمْدُ يُحْيِيْ وَيُمِيْتُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيْرٌ . وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ أَعْرَفُ النَّاسِ بِرَبِّهِ وَأَصْدَقُهُمْ تَمَسُّكًا بِتَعَالِيْمِهِ . اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ عَلَى مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَصَحْبِهِ . وَمَنْ تَبِعَ سُنَّتَهُ وَاهْتَدَى بِهَدْيِهِ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ .

 أَمَّا بَعْدُ فَيَا أَيُّهَا النَّاسُ . أُوْصِيْكُمْ وَنَفْسِيْ أَوَّلاً بِتَقْوَى اللهِ تَعَالَى وَطَاعَتِهِ . فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى فِيْ اْلقُرْآنِ الْكَرِيْمِ . أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ . وَاْلعَصْرِ إِنَّ اْلإِنْسَانَ لَفِيْ خُسْرٍ إِلاَّ الَّذِيْنَ آمَنُوْا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ  . صَدَقَ الله ُاْلعَظِيْمُ

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก

          เอกลักษณ์อันโดดเด่นประการหนึ่งของมุสลิมซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกคือการทักทายด้วยการกล่าวและรับสลาม ก่อนการสนทนาอื่นใด ซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมของมุสลิมทั่วโลกกล่าวคือ คราใดที่พี่น้องมุสลิมพบปะกัน เขาจะให้เกียรติกันโดยกล่าวคำว่า

اَلسَّلاَمُ عَلَيْكُمْ وَرَحْمَةُ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ

          “ขอความสันติสุข ความเมตตาของอัลลอฮฺ และสิริมงคลของพระองค์ประสบแด่ท่าน”

          ส่วนผู้ที่ได้รับคำให้เกียรติเช่นนี้ ก็ต้องกล่าวตอบรับว่า

وَعَلَيْكُمُ السَّلاَمُ وَرَحْمَةُ اللهِ وَبَرَكَاتُهُ

          “และขอความสันติสุข ความเมตตาของอัลลอฮฺและสิริมงคลของพระองค์ประสบแด่ท่านเช่นกัน”

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรฺอาน ซูเราะฮฺอันนิซาอฺ โองการที่ 86 ว่า

وَإِذَا حُيِّيْتُم بِتَحِيَّةٍ فَحَيُّواْ بِأَحْسَنَ مِنْهَا أَوْ رُدُّوهَا…  سورة النساء : الآية  86

          ความว่า   “และเมื่อพวกท่านได้รับการคารวะใดๆ   พวกเจ้าก็จง (ตอบ) คารวะให้ดีงามกว่านั้น หรือมิฉะนั้น ก็จงตอบคารวะนั้น (ด้วยถ้อยคำที่เท่าเทียมกัน) …”

          นักวิชาการได้ชี้แจงว่า การเริ่มให้สลามก่อนนั้นถือเป็นสุนัต (กล่าวคือ หากปฏิบัติ ก็จะได้รับผลบุญ และหากละทิ้ง ก็จะมิได้รับโทษแต่อย่างใด) ส่วนผู้ถูกทักทายด้วยการสลามนั้น มีอยู่ 2 ประเภท

          ประเภทที่หนึ่ง ถือเป็น ฟัรฺดูอัยน์ (คือจำเป็นต้องรับสลามหากละเลย มิยอมรับสลามถือว่ามีโทษ) ทั้งนี้ ในกรณีที่เขาอยู่เพียงผู้เดียว ไม่มีผู้ถูกทักทายคนอื่นๆ อยู่ร่วมด้วย

          ประเภทที่สอง ถือเป็น ฟัรดูกิฟายะฮฺ (คือถ้ามีผู้หนึ่งผู้ใดในกลุ่มตอบรับสลาม ก็ถือว่าบุคคลอื่นพ้นข้อบังคับของศาสนาในการตอบรับ) ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ถูกทักทายด้วยคำสลามนั้นมีจำนวนตั้งแต่สองคนขึ้นไป

          ท่านศาสดามูฮำหมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮิวะซัลลัม ได้รับรองเอาไว้ว่า หากสังคมใดได้นำวัฒนธรรมในการทักทายกัน อันมีพื้นฐานมาจากซุนนะฮฺ (แบบฉบับของท่านศาสดามูฮำหมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮิวะซัลลัม) มาปฏิบัติอย่างจริงจังนั่นเท่ากับว่า สังคมนั้นได้กระทำสิ่งซึ่งเป็นสาเหตุนำมาซึ่งความรักและความสมานฉันท์ระหว่างพี่น้องมุสลิมด้วยกันในสังคมนั้นๆ

          หากมุสลิมคนใดที่มิได้ให้ความสำคัญต่อการให้สลามและการรับสลามนั่นก็หมายความว่า เขามิได้ให้ความสำคัญต่อเอกลักษณ์ของการเป็นมุสลิมท่านศาสดามูฮำหมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า

إِنَّ الْمَلاَئِكَةَ تَعْجَبُ مِنَ الْمُسْلِمِ يَمُرُّ عَلَى الْمُسْلِمِ وَلاَ يُسَلِّمُ عَلَيْهِ

          ความว่า “แท้จริงมวลมาลาอิกะฮฺประหลาดใจเหลือเกินที่มุสลิมผู้หนึ่งผ่านไปที่มุสลิมอีกผู้หนึ่ง โดยมิให้สลามแก่กัน”

          ตัวบทอัลหะดีษข้างต้น ถือเป็นอนุสติแก่เราว่า แม้การเริ่มทักทายด้วยการสลามนั้นจะเป็นสุนัต มวลมาลาอิกะฮฺเอง ก็ยังประหลาดใจต่อการที่มุสลิมบางคนมิยอมให้สลามและถ้าเป็นการตอบรับ สลามซึ่งถือเป็น วายิบ ด้วยเล่า … จะเป็นเช่นไร

          นอกจากนี้ เอกลักษณ์อันโดดเด่นอีกประการหนึ่งซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกคือ การที่บรรดามุสลิมต่างแสดงออกถึงความเป็นมุสลิมของตนด้วยการ มู่ซอฟะฮะฮ์ (การสัมผัสมือกันเมื่อทักทาย) วัฒนธรรมเช่นนี้สามารถพบเห็นโดยทั่วไปในหมู่มุสลิม

          มีรายงานที่บันทึกโดยท่าน อบู ดาวุด ระบุว่า ท่านศาสดามูฮำหมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวว่า

مَا مِنْ مُسْلِمَيْنِ يَلْتَقِيَانِ فَيَتَصَافَحَانِ إِلاَّ غُفِرَ لَهُمَا قَبْلَ أَنْ يَتَفَرَّقَا

          ความว่า   “เมื่อมุสลิมสองคนได้พบปะกัน ต่อมาเขาทั้งสองได้ มู่ซอฟะฮะฮ์ (สัมผัสมือกัน) แน่นอนอัลลอฮฺย่อมประทานอภัยโทษแก่บุคคลทั้งสอง ก่อนที่จะแยกจากกัน”

          พี่น้องผู้ศรัทธาทุกท่าน บางทีอาจจะยังมีมุสลิมบางคนที่เขินอายต่อการกล่าวสลามและมู่ซอฟะฮะฮ์ กับบิดา มารดา บุตรหลาน เครือญาติและพี่น้องมุสลิมของตนเอง หรือบางครั้งอาจจะมีใครบางคนที่ยังมีทิฐิมานะ หรืออคติในใจต่อการตอบรับสลามและมู่ซอฟะฮะฮฺ จากบิดา มารดา บุตรหลาน เครือญาติและพี่น้องมุสลิมของเขาเอง

          เริ่มต้นเสียแต่วันนี้เถิด ก่อนที่จะมีใคร ฉวยโอกาสแย่งชิงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์อันเป็นซุนนะฮฺของศาสดามูฮำหมัด ศ๊อลลั่ลลอฮู่อะลัยฮิวะซัลลัม นี้ไป

أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ اْلعَظِيْمَ ِليْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ إِنَّهُ هُوَ اْلغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ       

 

คุตบะห์ฉบับไฟล์ PDF

  • ดาวน์โหลดไฟล์คุตบะห์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top