วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567 28:48 น.
ประชาสัมพันธ์
สุราและยาเมา

สุราและยาเมา

สุราและยาเมา

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก

          อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) หรือสุราและยาเมา ถูกขนานนามอันหลากหลาย และมันชั่งน่าหวาดกลัวกับอันตรายที่เกิดขึ้นในช่วงท้ายแห่งการอวสานของโลก คือ มีบางกลุ่มชนคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นของฮาลาล สาเหตุจากความเข้าใจว่าที่ฮารอมมันคือ เหล้าหรือสุราเท่านั้น และมันก็เกิดขึ้นจริงแล้ว ดังท่านนบี (ศ้อลฯ) กล่าวว่า

لَتَسْتَحِلَنَّ طَائِفَةٌ مِنْ أُمَّتِي الْخَمْرَ بِاسْمٍ يُسَمُّوْنَهَا إِيَّاهُ  :رواه أحمد وابن ماجه عن عبادة بن الصامت

ความว่า   “แน่แท้จะมีกลุ่มหนึ่งจากอุมมะฮ์ของฉันได้ทำให้เป็นของอนุญาตด้วยการตั้งนามชื่อที่เขาเหล่านั้นให้ฉายามันขึ้นมาเอง”

ในบรรดาตัวบทได้ชี้ชัดว่าในอุมมะฮ์ของท่านนบี จะมีการเสพสุรากันอย่างแพร่หลาย และในหมู่พวกเขาจะมีชนกลุ่มหนึ่งตีตราฮาลาลด้วยความคิดของตัวเอง และให้นามชื่อของสุราตามความปรารถนา ท่านอิบนุ้ลอะรอบีย์ ได้อธิบายคำว่าإِسْتِحْلاَلُ الْخَمْرِ ไว้ สองความหมายด้วยกัน

๑.   ยึดมั่นด้วยกับฮุก่มที่ชี้ขาดว่าไม่หะรอม 

๒.   เสพมันโดยเหมือนของฮาลาลโดยไม่คำนึงถึงว่า มันหะรอม

จึงมีคำถามว่า ของมึนเมาหรือน้ำเมาที่เสพเข้าไปแล้วทำให้เกิดมึนเมา ซึ่งมีแพร่หลายในปัจจุบันนี้ จะถูกจัดอยู่ในหมวดของคำว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) หรือไม่

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก นิยามของคำว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) คือ วัตถุดิบที่ถูกหมักหรือถูกนำมาผสมผสานกัน ไม่ว่าวัตถุดิบนั้นจะมาจากผลไม้หรือเมล็ดพืชหรือใบไม้โดยกรรมวิธีต่างๆ  และถูกเรียกว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) ตามคำนิยามของวงการแพทย์ คือ ทุกๆ สิ่งไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือเม็ดที่มีผลกับการทำลายสติสัมปชัญญะและทำลายความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเรียกว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) ทั้งสิ้น ดังนั้น จึงพอสรุปได้ว่า ไม่ว่าสิ่งที่มึนเมาจะถูกผลิตมาจากชนิดใดก็ตามเป็นอั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ)  ตามหลักศาสนบัญญัติ ผู้ใดที่ได้เสพไปแล้วได้ก่ออันตรายแก่ตัวเองและสังคม เช่น ทำให้หลงลืมจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ลืมละหมาด ยิ่งกว่านั้นมันคือ บ่อเกิดแห่งการทะเลาะวิวาทและความเป็นศัตรูอาฆาตมาทร้ายต่อกัน อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِيْنَ آمَنُوْا إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنْصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوْهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُوْنَ ، إِنَّمَا يُرِيْدُ الشَّيْطَانُ أَنْ يُوْقِعَ بَيْنَكُمُ الْعَدَاوَةَ وَالْبَغْضَاءَ  فِي الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ وَيَصُدَّكُمْ عَنْ ذِكْرِاللهِ وَعَنِ الصَّلاَةِ فَهَلْ أَنْتُمْ مُنْتَهُوْنَ :  سورة المائدة / الآية 90-91  

          ความว่า   “โอ้ผู้ศรัทธาทั้งหลายแท้จริงอั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) และการพนันการเชือดสัตว์เพื่อบูชาญัน การเสี่ยงติ้วเพื่อการทำนาย มันคือ ความโสโครกจากการงานของชัยฎอน ดังนั้น เจ้าทั้งหลายจงออกห่างไกลมันเถิด หวังว่าพวกเจ้าจะได้รับซึ่งชัยชนะ แท้จริงชัยฎอนมีเจตนาให้เกิดความเป็นศัตรูต่อกันและความอาฆาตแค้นสาเหตุก็มาจากอั้ลคอมร (اَلْخَمْرُ) และการพนัน มันจะทำให้พวกเจ้าผินหลังหนีออกจากการชิกรุ้ลลอฮ์ และจากการละหมาดดังนั้นพวกเจ้ายังไม่เลิกกับมันอีกหรือ”

บัญญัติอิสลาม มิได้แยกระหว่างน้ำเมาหรืออื่นจากน้ำ แต่อิสลามได้กำหนดเป็นข้อห้ามเหมือนกัน เนื่องจากมีหลักฐานจากคำกล่าวของท่านนบี (ศ้อลฯ) ว่า

كُلُّ مُسْكِرٍخَمْرٌ وَكُلُّ خَمْرٍ حَرَا مٌ  : رواه أحمد وأبوداود

ความว่า  “ทุกๆ ของที่มึนเมาเรียกว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) และทุกๆ อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) เป็นของต้องห้าม”

ท่านค่อลีฟะฮ์อุมัร บินคอฎฎ๊อบ ได้แสดงคุฎบะฮ์โดยท่านกล่าวว่า

وَالْخَمْرُ مَا خَامَرَ الْعَقْلَ : رواه البخاري ومسلم

ความว่า  “อั้ลคอมร (اَلْخَمْرُ ) คือสิ่งที่มอมเมากับสติสัมปชัญญะ”

คำพูดดังกล่าวมาจากท่านค่อลีฟะฮ์ ผู้รอบรู้ใจความอย่างถ่องแท้ของภาษาอาหรับและเข้าใจในบัญญัติศาสนาเป็นอย่างดี และไม่มีการถ่ายทอดจากศ่อฮาบะฮ์ท่านใดเลยที่มีความเห็นที่ขัดแย้งหรือแตกต่างไปจากท่านคอลีฟะฮ์อุมัร บินค๊อฎฎ๊อบ              

มีคำถามอีกว่า คำว่า อั้ลมุค๊อดดิร๊อด (اَلْمُخَدِّرَاتُ) ยาเสพติด ยากล่อมประสาท หรือสี่คูณร้อย ที่มีการนิยมกันในปัจจุบัน จัดอยู่ในข่ายของอั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ)  หรือไม่                          

ท่านชัยยิดซาบิก ได้ตอบไว้ในตำราของท่าน ชื่อ ฟิกฮุสชุนนะฮ์ มีใจความว่า มันคือ อั้ลคอมรุ ตามฮุก่มของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) อนึ่ง สิ่งเสพติดที่ทำลายสตินอกจากเครื่องดื่ม เช่น กัญชา และอื่นๆ มันเป็นของฮารอมเพราะมันทำให้มึนเมา

ท่านพี่น้องที่เคารพรัก มุอ์มิน คือ ผู้ที่เชื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) เชื่อร่อชู้ล (ศ้อลฯ) สุรายาเมาหรือสิ่งใดก็ตามซึ่งมีความหมายของคำว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงห้ามในอั้ลกุรอานและทรงกำชับให้ออกห่างไกลด้วยสำนวนว่า (فَاجْتَنِبُوْهُ) ซึ่งมีความหมายว่า เจ้าทั้งหลายจงออกห่างไกล  และท่านร่อชู้ล (ศ้อลฯ) ก็กล่าวเตือนในสำนวนว่า (اِجْتَنِبُوْا) ท่านทั้งหลายจงออกห่างไกล  ซึ่งมีบันทึกของท่านฮากิม ท่านบัยฮะกีย์ รายงานจากท่านอิบนิอับบาส ว่า

اِجْتَنِبُوا الْخَمْرَ فَإِنَّهَا أُمُّ الْخَبَائِثِ : رواه الحاكم والبيهقي عن ابن عباس

ความว่า   “ท่านทั้งหลายจงออกห่างไกลอั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) แท้จริงมันคือแม่แห่งความชั่วร้ายทั้งหลาย”

อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงห้ามที่มีใจความว่า เจ้าทั้งหลายจงออกห่างไกล และท่านร่อซู้ล (ศ้อลฯ) ก็ใช้สำนวนที่มีใจความเช่นเดียวกัน ท่านอีหม่ามอัษษะฮะบีย์ (اَلذَّهَبِيْ) กล่าวว่า ใครก็ตาม ยังไม่ออกห่างไกลมัน เขาผู้นั้นกำลังทำความชั่วกับอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซู้ล (ศ้อลฯ) (คนทำความชั่วต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซู้ล (ศ้อลฯ) คือ ผู้ได้รับสิทธิแล้วกับการรับการลงโทษในมะซียัตของเขา

อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

وَمَنْ يَعْصِ اللهَ وَرَسُوْلَهُ وَيَتَعَدَّ حُدُوْدَهُ يُدْخِلْهُ نَارًا خَالِدًا فِيْهَا وَلَهُ عَذَابٌ مُهِيْنٌ : سورة النساء / الآية 14

ความว่า   “และผู้ใดฝ่าฝืนอัลลอฮ์ (ซ.บ.) และร่อซู้ล (ศ้อลฯ) ของพระองค์และยังละเมิดขอบเขตของพระองค์ พระองค์จะทรงนำเขาสู่นรกโดยที่เขาจะอยู่ในนรกนั้นตลอดกาล และเขาจะได้รับการลงโทษที่ยังความอัปยศให้แก่เขา”

คนที่เข้าสู่ขุมนรกตลอดกาลนั้น หมายถึง ผู้ฝ่าฝืนที่เข้าอยู่ในข่ายผู้ปฏิเสธศรัทธา แต่ผู้ไม่ออกห่างไกลจากคอมรุ (اَلْخَمْرُ) เข้าอยู่ในข่ายของผู้ปฏิเสธศรัทธากระนั้นหรือ !  พวกเราลองใช้สติปัญญาไตร่ตรองตัวบทดังต่อไปนี้

عَنِ ابْنِ عَبَّاسِ رَضِيَ اللهُ عَنْهُمَا قَالَ : لَمَّا نَزَّلَ تَحْرِيْمَ الْخَمْرِمَشَى الصَّحَابَةُ بَعْضُهُمْ إِلَى بَعْضٍ وَقَالُوْا : حُرِّمَتِ الْخَمْرُ وَجُعِلَتْ عَدْلاً لِلشِّرْكِ : رواه الطبراني من كلام ابن عباس    

ความว่า “จากท่านอิบนิอับบาส ได้กล่าวว่า ขณะที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงบัญญัติห้ามอัลคอมรุ (اَلْخَمْرُ)  เหล่าซ่อฮาบะฮ์ต่างเดินไปมาหาสู่กันและเขาทั้งหลายกล่าวว่า อั้ลคอมรุ (اَلْخَمْرُ) เป็นที่ต้องห้ามแล้วและมันถูกเทียบเท่าการสร้างภาคีเลยทีเดียว”

มีบันทึกของท่านอิบนุมาญะฮ์ ท่านบุคอรีย์ และท่านบัยฮะกีย์ จากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ ว่า

أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ : مُدْ مِنُ الْخَمْرِ كَعَابِدِ وَثَنٍ :

رواه ابن ماجه والبخاري والبيهقي

ความว่า “แท้จริงท่านร่อซู้ล (ศ้อลฯ) กล่าวว่า ผู้ติด อั้ลคอมร ( اَلْخَمْرَ) ประดุจดังผู้นั้นเป็นผู้สักการะสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.)”

เราทุกคนก็ทราบดีว่า บาปของการชิริกใหญ่และการสักการะสิ่งอื่นนอกจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) นั้นคืออะไร ตามประวัติศาสตร์ยังมีการบันทึกไว้ว่าเพราะเพียงแต่สาเหตุของอั้ลคอมร (اَلْخَمْرُ) ทำให้คนดีกลายสภาพเป็นผู้ตายในสภาพขาดความเป็นมุสลิมหลังจากดื่มอั้ลคอมร (اَلْخَمْرُ) และก็ทำซินาแล้วก็ฆ่าเด็ก ที่ได้นำเสนอมานี้มิได้ชี้ขาดและตัดสินใครเพราะนรกและสวรรค์ไม่มีผู้ใดได้รับสัมปทานมาจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) เพียงแต่เห็นสังคมของพวกเราโดยเฉพาะเยาวชนและเหนือเยาวชนขึ้นไปยังคงพัวพันกับอั้ลคอมร (اَلْخَمْرُ) อยู่ หรืออาจจะยังไม่เข้าใจกับโทษของมัน อยากบอกว่า เลิกมันเถอะนะห์  สงสารพ่อของคนบางคนซึ่งนั่งน้ำตาตกใน แม่ของคนบางคนนอนน้ำตาไหลพราก เพราะลูกเสียอนาคตสาเหตุจากลูกติดสุรายาเมา มัสยิดดูซบเซาเพราะขาดไปหลายคนที่มาร่วมกิจกรรม ที่น่าสลดมากที่สุด คือ อยู่อย่างตัวใครตัวมัน

بَارَكَ اللهُ لِيْ وَلَكُمْ فِي الْقُرْآنِ الْكَرِيْمِ وَنَفَعَنِي اللهُ وَاِياَّكُمْ بِمَا فِيْهِ مِنَ اْلآياَتِ وَالذِّكْرِ الْحَكِيْمِ أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ  إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ .

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top