วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม 2567 7:10 น.
ประชาสัมพันธ์
อั้ลอิคลาศ

อั้ลอิคลาศ

อั้ลอิคลาศ

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก

          นิยามของคำว่า “อิคลาศ” คือ การตั้งเจตนาในงานที่ทำไปเพื่ออัลลอฮ์ (ซ.บ.) และก็มิปรารถนาเพื่อผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้น และไม่ปรารถนาอวดผู้ใดและไม่หวังคำชมเชยจากผู้ใดพร้อมไม่กลัวจะถูกตำหนิ คราใดที่ประกอบอะมั้ล อิบาดะฮ์ด้วยการประดับประดาให้สวยงามไม่ใช่เพื่ออื่นจากอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ท่านถูกเรียกว่า อั้ลมุคลิศ

ท่านอัสซัยยิด อั้ลญะลี้ล อะบีอะลีย์ อั้ลฟุฎอยล บินอิยาฎ ร่อหิมะฮุ้ลเลาะฮ์ กล่าวว่า

تَرْكُ الْعَمَلِ لِأَجْلِ النَّاسِ رِياَءٌ وَالْعَمَلُ لِاَجْلِ النَّاسِ شِرْكٌ  وَاْلإِخْلاَصُ أَنْ يُعاَفِيَكَ اللهُ مِنْهُماَ

ความว่า “การละทิ้งอะมั้ลเพื่อมนุษย์ มันคือ การริยาอ์ และการประกอบอะมั้ลเพื่อมนุษย์ คือการชิริก และการอิคลาศ คือ การที่อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงรักษาท่านจากการตั้งภาคีต่อพระองค์และการริยาอ์คืออวดอ้าง”

บางคนเข้าใจว่า อิคลาศ ต้องมีในละหมาด การอ่านกุรอาน การเชิญชวนคนทำความดี การบริจาคเท่านั้น เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากอิคลาศ จำเป็นในทุกๆ การกระทำอิบาดะฮ์ เช่น การซิยาเราะฮ์เครือญาติ ก็เรียกว่า อิบาดะฮ์ การติดต่อเชื่อมสัมพันธ์กับเขาเหล่านั้น การทำความดีกับเพื่อนบ้าน การมีคุณธรรมต่อบิดามารดา ก็เป็นอิบาดะฮ์ที่ต้องมีความอิคลาศ เพราะมัน คือ อิบาดะฮ์ที่สำคัญเช่นเดียวกัน ทุกๆ สิ่งไม่ว่าจะเป็นการกระทำหรือคำพูดซึ่งอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงพึงพอพระทัยและทรงรัก เรียกว่า อิบาดะฮ์ทั้งหมด จำเป็นต้องมีอิคลาศ ถึงแม้นจะเล็กน้อยก็ตาม และอิบาดะฮ์ยังรวมถึงด้านมุอามะละฮ์ด้วย เช่น พูดจริงมีสัจจะในการค้าขาย ดูแลครอบครัว แม้กระทั้ง การใช้จ่ายทรัพย์สิน เพื่อรักษาลูกหลาน ให้พ้นจากอันตรายของดุนยาและอาคิเราะฮ์หรือให้อาหารแก่ภรรยา

ท่านนบี (ศ้อลฯ) กล่าวว่า

وَلَسْتَ تُنْفِقُ نَفَقَةً تَبْتَغِيْ بِهاَ وَجْهَ اللهِ إِلاَّ أُجِرْتَ عَلَيْهاَ حَتَّى اللُّقْمَةَ تَضَعُهاَ فِيْ فِيِّ امْرَأَتِكَ .    متفق عليه

ความว่า “มิใช่เพียงแต่ท่านบริจาคเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งท่านหวังกับมันต่อพระพักตร์ของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) นอกจากพระองค์ทรงตอบแทนให้ท่านกระทั้งอาหารเพียงคำเดียวที่ท่านใส่ไปในปากภรรยาของท่าน”

และเมื่อใดความอิคลาศของท่านต่ออัลลอฮ์ (ซ.บ) เข้มแข็ง มันจะเชิดชูผู้กระทำอะมั้ลด้วยตำแหน่งที่สูงยิ่ง ณ พระองค์ ถึงอะมั้ลจะน้อยนิด

ท่านอะบูบักร บินอิยาฎ กล่าวว่า

ماَ سَبَقَناَ أَبُوْ بَكْرٍ بِكَثِيْرِ صَلاَةٍ وَلاَ صِياَمٍ وَلَكِنَّهُ اْلإِيْماَنُ وُقِرَ فِيْ قَلْبِهِ .

ความว่า “มิใช่ว่าท่านอะบูบักร (ร.ฎ) ได้ล้ำหน้าพวกเรา เพราะเขาละหมาดมากและถือศีลอดมาก แต่เพราะอีหม่านต่างหากที่มั่นคงอยู่ในใจของเขา”

เหตุนี้เองท่านอับดุลลอฮ์ อิบนุ้ลมุบาร๊อก กล่าวว่า

رُبَّ عَمَلٍ صَغِيْرٍ تُعَظِّمُهُ النِّيَّةُ وَرُبَّ عَمَلٍ كَبِيْرٍ تُصَغِّرُهُ النِّيَّةُ .

ความว่า “บางทีการประกอบอะมั้ลที่เล็กน้อย แต่มันใหญ่โตมโหฬารเพราะมีเจตนาที่บริสุทธิ์ และบางทีการประกอบอะมั้ลที่มากมาย แต่มันมีผลน้อยนิดเพราะเจตนาเช่นเดียวกัน”

ท่านพี่น้องที่รัก  ด้วยการทำความดี ถึงมันจะน้อยแต่เต็มเปลี่ยมไปด้วยอิคลาศ ผลบุญจะทวีคูณ ดังท่านนบีมุฮัมมัด (ศ้อลฯ) กล่าวว่า

مَنْ تَصَدَّقَ بِعِدْلِ تَمْرَةٍ مِنْ كَسْبٍ طَيِّبٍ وَلاَ يَقْبَلُ اللهُ إِلاَّ الطَّيِّبَ ، فَإِنَّ اللهَ يَقْبَلُهاَ بِيَمِيْنِهِ ثُمَّ يُرَبِّيْهاَ لِصاَحِبِهاَ كَماَ يُرَبِّيْ أَحَدُ كُمْ فَلُوَّهُ حَتَّى تَكُوْنَ مِثْلَ الْجَبَلِ الْعَظِيْمِ .  متفق عليه

ความว่า  “ผู้ใดที่ทำซอดะเกาะฮ์เท่ากับผลอินทผาลัม อันมาจากรายได้ที่สะอาดบริสุทธิ์ เพราะอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะไม่ทรงรับ เว้นแต่ของสะอาดบริสุทธิ์ แท้จริงอัลลอฮ์ (ซ.บ.) จะทรงรับมันไว้ด้วยพระหัตขวาของพระองค์ (กล่าวคือ ทรงพอพระทัย) ต่อมาพระองค์จะทรงดูแลรักษาไว้ให้แก่เจ้าของมันประดุจดังคนหนึ่งของพวกท่านเลี้ยงดูแลรักษาลูกม้า จนกระทั้งซอดะเกาะฮ์ของเขาที่เล็กน้อยเท่าผลอินทผาลัมนั้นกลายสภาพใหญ่โตเหมือนภูเขาลูกใหญ่เลยทีเดียว”

อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงตรัสว่า

وَاللهُ يُضاَعِفُ لِمَنْ يَشَاءُ وَاللهُ وَاسِعٌ عَلِيْمٌ .  سورة البقرة / الآية 261

ท่านอิบนุกะษีร กล่าวอถาธิบายอายะฮ์นี้ว่า “อัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงทวีคูณแก่ผู้ที่พระองค์ทรงปรารถนา คือขึ้นอยู่กับความมีอิคลาศในอะมั้ลของเขา

ท่านพี่น้องที่รัก เพียงแต่การทำความดีที่เล็กน้อยด้วยความอิคลาศผลตอบแทนยังมากมายมหาศาล เราคงจะนับภาคผลไม่ไหวกับการประกอบความดีที่มากมายที่เต็มไปด้วยอิคลาศ

بَارَكَ اللهُ لِيْ وَلَكُمْ فِي الْقُرْآنِ الْكَرِيْمِ وَنَفَعَنِي اللهُ وَاِياَّكُمْ بِمَا فِيْهِ مِنَ اْلآياَتِ وَالذِّكْرِ الْحَكِيْمِ ، أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ ، فَاسْتَغْفِرُوْهُ  إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ  .

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top