วันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 14:22 น.
ประชาสัมพันธ์
ความโกรธ

ความโกรธ

ความโกรธ

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก

มีคำโบราณหรือสุภาษิตว่า รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี การตีลูกหรือการลงโทษลูกเพื่อให้เป็นคนดีเป็นคำสอนของศาสนา มิใช่การตีหรือลงโทษเพราะความโกรธ ขณะเกิดความโกรธที่ไม่ใช่เพราะศาสนาใช้นั้น ชัยฎอนมีส่วนร่วมและยุยงจนในที่สุดขาดความยั้งคิดและขาดเหตุผลที่ยอมรับได้ ผลสุดท้ายอาจนำมาซึ่งความเสียใจดั่งคำกล่าวว่า

الْغَضَبُ آخِرُهُ نَدَمٌ

ความว่า “ผลสุดท้ายความโกรธ คือความเสียใจ”

ในยุคญาฮิลียะฮ์เกิดรบราฆ่าฟันกันด้วยพละกำลังส่วนหนึ่งก็สาเหตุของการโกรธและไร้ซึ่งเหตุผล ศาสนาอิสลามได้ละลายพฤติกรรมดังกล่าวด้วยการสอนสั่งให้ต่อสู้กับอารมณ์โกรธของตัวเองและเตือนกันให้มีความอดทน ดังอัลลอฮ์ ตะอาลา ทรงกล่าวว่า

وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ :  سورة العصر: الآية  3

ความว่า “และเขาทั้งหลายต่างเตือนกันให้มีความอดทน”

การระงับโทสะหรืออารมณ์โกรธของตัวเองได้ย่อมถือว่ามีความแข็งแกร่งกว่าการต่อสู้กับศัตรูเสียอีก 

ท่านนบี ศ้อลฯ ได้ยกฐานะของผู้ที่เข้มแข็งว่าคือผู้ระงับความโกรธได้ ดังมีรายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ รอฎิยั้ลลอฮ์ฯ ว่า

أَنَّ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ قَالَ لَيْسَ الشَّدِيْدُ بِالصُّرَعَةِ ، اِنَّمَا الشَّدِيْدُ الَّذِيْ يَمْلِكُ نَفْسَهُ عِنْدَ الْغَضَبِ . متفق عليه

ความว่า  “แท้จริงท่านนบี ศ้อลฯ กล่าวว่า ผู้ที่เข้มแข็งมิใช่ผู้ที่ล้มผู้อื่นได้บ่อยครั้ง แต่แท้ที่จริงผู้ที่เข้มแข็งนั้น คือผู้ซึ่งสามารถระงับอารมณ์ตัวเองได้ขณะเขามีอารมณ์โกรธ”

เป็นคำสอนจากท่านนบี ศ้อลฯ ให้อุมมะฮ์ของท่านออกห่างไกลจากคุณลักษณะของชัยฎอนนั่นคืออากับกิริยาที่น่ารังเกียจที่เรียกว่าความโกรธซึ่งทำลายบุคลิกภาพ และให้พยายามข่มโทสะ หากมิเช่นนั้นแล้ว มันจะพานำสู่ให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและมีผลต่อสุขภาพจิตและสังคมส่วนรวม ท่านนบี ศ้อลฯ ได้สั่งเสียไว้ว่า

أَنَّ رَجُلاً قَالَ لِلنَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ أَوْصِنِيْ ، قَالَ “لاَ تَغْضَبْ” فَرَدَّدَ مِرَارًا قَالَ  “لاَ تَغْضَبْ”: رواه البخاري عن أبي هريرة

ความว่า “แท้จริงมีชายผู้หนึ่งได้กล่าวแก่ท่านนบี ศ้อลฯ ว่าโปรดได้วะซียะฮ์ (สั่งเสีย) ข้าพเจ้าด้วยเถิด ท่านนบี ศ้อลฯ กล่าวว่า ท่านอย่าโกรธ ชายผู้นี้ก็ได้ทำการขอวะซียะฮ์จากท่านนบี ศ้อลฯ ซ้ำแล้วซ้ำอีก ท่านนบี ศ้อลฯ ก็ยังคงตอบว่า ท่านอย่าโกรธ”

และมีบางรายงานกล่าวว่าท่านนบี ศ้อลฯ ได้สอนแก่ชายผู้นี้ระงับความโกรธขณะที่เขาขอคำสอนจากท่านนบี ศ้อลฯ ว่า

أَخْبِرْنِيْ بِعَمَلٍ يُدْخِلُنِي الْجَنَّةَ ، وَلاَ تُكْثِرْ عَلَيَّ لَعَلِّيْ أَعْقِلُهُ .

ความว่า “โปรดได้บอกแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด กับงานที่จะทำให้ข้าพเจ้าได้เข้าสวรรค์ และโปรดอย่าให้มากแก่ข้าพเจ้าเลย หวังว่าข้าพเจ้าจะได้เข้าใจมัน”

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก จากคำวะซียะฮ์ของท่านนบี ศ้อลฯ แก่ชายผู้นี้ทำให้บรรดาอุละมาอ์แนะนำสาระว่า

عَظْمُ مَفْسَدَةِ الْغَضَبِ وَمَا يُنْشَأُ عَنْهُ

ความว่า “ความโกรธเกิดความเสียหายอันใหญ่หลวง และผลพวงซึ่งเลวร้ายที่ติดตามมา”

ذَمُّ الْغَضَبِ وَالْبُعْدُ عَنْ اَسْبَابِهِ

ความว่า “ความโกรธคือสิ่งที่ศาสนาประณามและให้หลีกหนี และออกห่างไกลจากสาเหตุที่นำพาสู่ความโกรธ”

اَلْغَضَبُ الْمَذْمُوْمُ مَا كَانَ فِيْ أُمُوْرِ الدُّنْيَا

ความว่า “ความโกรธที่น่ารังเกียจตามหลักศาสนา คือความโกรธเรื่องของดุนยา”

اَلْغَضَبُ الْمَحْمُوْدُ مَا كَانَ لِلَّهِ تَعَالَى وَلِنُصْرَةِ دِيْنِهِ

ความว่า “การโกรธที่ได้รับสรรเสริญ คือโกรธเพื่ออัลลอฮ์ ตะอาลา และเพื่อเชิดชูศาสนาของพระองค์”

มีปรากฏบ่อยครั้งที่ท่านนบี ศ้อลฯ มีอาการโกรธเมื่อท่านพบกับการฝ่าฝืนในบทบัญญัติของอัลลอฮ์ ตะอาลา

ท่านพี่น้องร่วมศรัทธาที่รัก ท่านสามารถขจัดความโกรธได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือกล่าวอิสติอาษะฮ์ คือกล่าวว่า

أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ

ผู้ใดมีอารมณ์โกรธ ให้เขาได้ทราบเถิดว่าผลของมันคืออันตรายทั้งสองโลก เพราะความโกรธมันคือการกระตุ้นของชัยฎอน ท่านนบี ศ้อลฯ จึงแนะวิธีขจัดและตัดเชือกที่กระชากหรือกระตุ้นของชัยฎอนโดยการขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา ให้พ้นจากชัยฎอน อัลลอฮ์ ตะอาลา ตรัสว่า

وَاِمَّا يَنْزَغَنَّكَ مِنَ الشَّيْطَانِ نَزْغٌ فَاسْتَعِذْ بِاللهِ اِنَّهُ سَمِيْعٌ عَلِيْمٌ : سورة الاعراف: الآية 200

ความว่า “และหากมีการยั่วยุใดๆ จากชัยฎอนกับการยั่วยุเจ้าอยู่ เจ้าจงขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา เถิด แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงได้ยินผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง”

ท่านสุลัยมานบิรศุร๊อด รอฎิยั้ลลอฮ์ฯ กล่าวว่า

كُنْتُ جَالِسًا مَعَ النَّبِيِّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ وَرَجُلاَنِ يَسْتَبَّانِ فَأَحَدُهُمَا قَدِ احْمَرَّ وَجْهُهُ وَا نْتَفَخَتْ أَوْدَاجُهُ ، فَقَالَ رَسُوْلُ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ : اِنِّيْ لَأَعْلَمُ كَلِمَةً لَوْ قَالَهَا لَذَهَبَ عَنْهُ مَا يَجِدُ ، لَوْ قَالَ : أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ ذَهَبَ عَنْهُ مَا يَجِدُ ، فَقَالُوْا لَهُ : اِنَّ النَّبِيَّ صلى الله عليه وسلم قَالَ : تَعَوَّذْ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ : متفق عليه

ความว่า “ฉันได้นั่งร่วมอยู่กับท่านนบี ศ้อลฯ ขณะนั้นมีชายสองคนกำลังด่าทอกัน หนึ่งจากสองคนนั้นหน้าแดงกล่ำเส้นเลือดที่ลำคอปูดโปน ท่านนบี ศ้อลฯ จึงกล่าวว่า แท้จริงฉันทราบดีว่า มีสำนวนหนึ่งถ้าเขากล่าวมัน แน่นอนก็จะหายไปจากเขา หากเขากล่าว อะอูซู่บิ้ลลาฮี่มินัชชัยฎอนิรร่อญีม อาการที่เขาประสบอยู่ก็จะหายไป เหล่าซอฮาบะฮ์จึงได้ไปกล่าวสอนแก่ผู้มีอาการโกรธว่า แท้จริงท่านนบี ศ้อลฯ ได้กล่าวเตือนให้ท่านขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ ตะอาลา ให้พ้นจากชัยฎอนซึ่งถูกสาบแช่ง”

ชอบให้อาบน้ำละหมาด เนื่องจากชัยฎอนถูกสร้างจากไฟ สิ่งที่ดับไฟได้คือน้ำ และในขณะเดียวกันที่เขาเจตนาจะอาบน้ำละหมาดในจิตรของผู้นั้นก็อาจทุเลาจากความโกรธลงได้บ้างแล้วเพราะการอาบน้ำละหมาดคืออิบาดะฮ์ประดุจดังเขาถอดบุคลิกที่ไม่เหมาะสมและสลัดชัยฎอนเพื่อการอิบาดะฮ์ ท่านนบี ศ้อลฯ กล่าวว่า

إِنَّ الْغَضَبَ مِنَ الشَّيْطَانِ ، وَإِنَّ الشَّيْطَانَ خُلِقَ مِنَ النَّارِ ، وَإِنَّمَا تُطْفَأُ النَّارُ بِالْمَاءِ ، فَإِذَا غَضِبَ أَحَدُكُمْ فَلْيَتَوَضَّأْ : رواه أبوداودعن عطية بن عروة السعدي

ความว่า “แท้จริงความโกรธนั้นมาจากชัยฎอน ซึ่งชัยฎอนถูกสร้างมาจากไฟและความจริงไฟจะถูกดับด้วยน้ำ ดังนั้นเมื่อคนใดของพวกท่านมีอาการโกรธ ก็ให้เขาอาบน้ำละหมาดเถิด”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top