วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 10:08 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> การมุ่งมั่นประกอบคุณงามความดี ก่อนชีวิตจะอาสัญ
การมุ่งมั่นประกอบคุณงามความดี  ก่อนชีวิตจะอาสัญ

การมุ่งมั่นประกอบคุณงามความดี ก่อนชีวิตจะอาสัญ

คุตบะฮ์วันศุกร์

เรื่อง การมุ่งมั่นประกอบคุณงามความดี ก่อนชีวิตจะอาสัญ                                                                                                    ผศ.ดร. วิศรุต  เลาะวิถี

ألْحَمْدُ ِللهِ الَّذِيْ خَلَقَ السَّمَاوَاتِ وَاْلاَرْضَ وَجَعَلَ الظُّلُمَاتِ وَالنُّوْرَ .  ثُمَّ الَّذِيْنَ كَفَرُوْا بِرَبِّهِمْ يَعْدِلُوْنَ .  وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ بِيَدِهِ مَلَكُوْتُ كُلِّ شَيْءٍ وَ إِلَيْهِ تُرْجَعُوْنَ .  وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا رَسُوْلُ اللهِ الَّذِيْ خَتَمَ اللهُ بِهِ النَّبِيِّيْنَ .  وَأَنْزَلَ عَلَيْهِ الْقُرْآنَ بَصَائِرَ لِلنَّاسِ وَهُدًى وَرَحْمَةً لِقَوْمٍ يُوْقِنُوْنَ . اَللَّهُمَّ صَلِّ وَسَلِّمْ عَلَى مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ تَبِعَهُمْ بِإِحْسَانٍ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُوْنَ .

أَمَّا بَعْدُ فَيَاعِبَادَ اللهِ . أُوْصِيْكُمْ وَنَفْسِيْ أَوَّلاً بِتَقْوَى اللهِ تَعَالَى وَطَاعَتِهِ .  فَقَدْ قَالَ اللهُ تَعَالَى فِي الْقُرْآنِ اْلكَرِيْمِ :   قَدْ جَاءَكُمْ مِنَ اللهِ نُوْرٌ وَكِتَابٌ مُبِيْنٌ  يَهْدِيْ بِهِ اللهُ مَنِ اتَّبَعَ رِضْوَانَهُ سُبُلَ السَّلاَمِ وَيُخْرِجُهُمْ مِنَ الظُّلُمَاتِ إِلَى النُّوْر بِإِذْنِهِ وَيَهْدِيْهِمْ إِلَى صِرَاطٍ مُسْتَقِيْمٍ

พี่น้อง ผู้มีหัวใจผูกพันกับอัลลอฮ์ สุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่รักทั้งหลาย

ณ เบื้องต้นนี้ ขออนุญาตย้ำเตือนตนเองและพี่น้องทุกท่าน ให้ยกระดับ “หัวใจ” ของเราสู่ความเปี่ยมล้นด้วย “ตักวา” และซึมซับความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (สุบฯ) อย่างยั่งยืน แน่นอน ตักวา” นั้น เป็นคำภาษาอาหรับสั้น ๆ แต่มีความหมายแฝงเร้นกับการเป็น “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” อย่างยิ่ง ซึ่งมีนัยตรงตาม คำจำกัดความที่ว่า امتثال الاوامر/ واجتناب النواهي

คำจำกัดความทั้งสองนัยดังกล่าวนั้น หมายถึง การปฏิบัติตนตามบัญชาใช้ และละเว้น ห่างไกลจากบรรดาบัญญัติห้ามตามคำสอนอิสลามโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ ขอเรียนเพิ่มเติมว่า คำว่าตักวา” นั้น มีนัยแห่งความหมายสอดคล้องกับสถานภาพของการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” อย่างแนบแน่นและลุ่มลึก เพราะการเป็น “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” ที่ได้รับการซึมซับ และตอกย้ำด้วย “ตักวา”อย่างชัดเจนแล้ว ย่อมจะน้อมนำ “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธาทุกคน” ให้ได้รับการยกย่องและเชิดชูว่าเป็น ปูชนียบุคคล” ที่มีเกียรติและประเสริฐยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ

          ความว่า แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า อัลลอฮนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่        พวกเจ้า” (อัลฮุจรอต : 13)

พี่น้อง ผู้มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยตักวา ทั้งหลาย

     ด้วยสภาพความเป็นอยู่หรือการใช้ชีวิต ตลอดจนการบริโภคอาหารการกินทุกวันนี้ ทุกคนต้องอยู่ในสภาวะที่ต้องเร่งรีบและแข่งขันกันตลอดเวลา ทำให้การดำเนินชีวิตในปัจจุบันได้รับการเปลี่ยนแปลงด้วยสภาวะดังกล่าวที่ผิดไปจากอดีต รวมทั้งการรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ก็ได้รับการพัฒนามากขึ้น กล่าวคือ ชีวิตของคนเราจะมีอายุยืนยาว แต่อาจอยู่ในสภาพที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรงเหมือนกาลอดีต จากการรวบรวมสถิติในปี 2561 พบว่า ประชากรชาวไทย มีอัตราการตายสูงเป็นอันดับที่ 68 ของโลก โดยมีอายุเฉลี่ยของเพศชาย 71.9 ปี และเพศหญิง 78 ปี และโรคที่ทำให้เสียชีวิตมากเป็นอันดับแรก คือ โรคหัวใจ รองลงมาคือโรคหลอดเลือดอุดตันและโรคมะเร็ง สำหรับโรคมะเร็งนั้น ถือเป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถรักษาให้หายได้ ทั้งยังมีช่องทางเลือกต่าง ๆ ที่ช่วยเยียวยาอาการให้หายจากโรคร้ายนี้ได้ – อินชาอัลลอฮ์

ขอเรียนกับพี่น้องทั้งหลายว่า ความตระหนักรู้ในคุณค่าของชีวิตเป็นคุณลักษณะที่แสดงถึงการมีสุขภาวะด้านจิตวิญญาณของบุคคลกับการรู้จักตนเอง การประกอบคุณงามความดี การเห็นคุณค่าตนเอง การเข้าใจผู้อื่น การรับรู้และเข้าใจความทุกข์ยากหรือภัยบะลาอ์  เมื่อทุกคนมีความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นเช่นเดียวกับที่เข้าใจตนเอง ก็จะช่วยให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน ส่งเสริมให้เกิดความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรัก ความเมตตาเอื้ออาทรต่อกัน อันทําให้บุคคลนั้นมีสุขภาพจิตที่ดี มีความเข้าใจ เห็นใจ และให้อภัยต่อผู้อื่น เมื่อบุคคลดูแลตัวเองให้มีความสุข สามารถถ่ายทอดความรัก ความเมตตาเอื้ออาทรสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้น แนวการพัฒนาความตระหนักรู้ในคุณค่าของชีวิตของมุอ์มิน-ผู้ศรัทธา จะค้นพบคุณค่าในตนเอง มีความสงบสุข เป็นผู้มองโลกในแง่ดี หรือการมีความคิดในเชิงบวก มีความเมตตากรุณา และมีการฝึกฝนตนเองสู่คุณธรรม จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ประกอบคุณงามความดีอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

พี่น้อง ผู้มุ่งมั่นสู่คุณความดี ทั้งหลาย

ในสถานภาพแห่งการเป็นมุอ์มิน-ผู้ศรัทธานั้น จะต้องมีความตื่นตัวและรีบเร่งประกอบคุณงามความดีเป็นทวีคูณ  เพราะชีวิตของคนเรา ย่อมมีช่วงอายุไม่ยืนยาวนัก และวันสุดท้ายแห่งชีวิตของแต่ละคน ก็อยู่ใกล้แค่เอื้อม ไม่มีผู้ใดสามารถล่วงรู้ได้ว่า วันสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาถึงเมื่อใด โดยนัยแห่งการรีบเร่งประกอบคุณงามความดีในที่นี้ หมายถึง การตื่นตัว และมุ่งหน้าสู่การประพฤติปฏิบัติตนตามคำสั่งใช้ของอัลลอฮ์ (สุบฯ) องค์พระผู้เป็นเจ้า โดยไม่รีรอหรือลังเลใจ ดังปรากฏนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

﴿ وَسَارِعُوٓاْ إِلَىٰ مَغۡفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمۡ وَجَنَّةٍ عَرۡضُهَا ٱلسَّمَٰوَٰتُ وَٱلۡأَرۡضُ أُعِدَّتۡ لِلۡمُتَّقِينَ ١٣٣﴾

 [آل عمران: ١٣٣]

ความว่า “และพวกเจ้าจงรีบเร่งสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกรงยิ่ง” (อาล อิมรอน:133)

นอกจากนี้ อัลลอฮ์ (สุบฯ) ยังได้ตรัสถึงนบีมูซา อะลัยฮิสลาม ว่า

 وَعَجِلۡتُ إِلَيۡكَ رَبِّ لِتَرۡضَىٰ ٨٤ ﴾ [طه: ٨٤]﴿

ความว่า “และข้าพระองค์ได้รีบเร่งมายังพระองค์ โอ้ พระเจ้าแห่งข้าพระองค์ เพื่อให้พระองค์ทรง    พอพระทัย” (ฏอฮา: 84)

อีกนัยหนึ่ง ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) มักจะส่งเสริมและสนับสนุนให้อุมมะฮ์-ประชาคมของท่านมุ่งมั่นการประกอบคุณงามความดี เพราะผู้ศรัทธามิอาจทราบได้ว่า เขาจะประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ ความเดือดร้อนความทุกข์ยากต่าง ๆ หรือวันสุดท้ายของชีวิตเมื่อใด ท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า ท่านนบี มุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวว่า

« بَادِرُوا بِالْأَعْمَالِ فِتَنًا كَقِطَعِ اللَّيْلِ الْمُظْلِمِ: يُصْبِحُ الرَّجُلُ مُؤْمِنًا وَيُمْسِي كَافِرًا، أَوْ يُمْسِي مُؤْمِنًا وَيُصْبِحُ كَافِرًا، يَبِيعُ دِينَهُ بِعَرَضٍ مِنَ الدُّنْيَا » رواه مسلم برقم 118

ความว่า “พวกท่านจงรีบเร่งปฏิบัติความดี ก่อนที่จะเกิดความวุ่นวายโกลาหล ดั่งราตรีกาลอันมืดมน จนกระทั่งบางคนตื่นเช้ามาในสภาพเป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อถึงเวลาเย็นกลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา หรือบางคนตอนเย็นยังเป็นผู้ศรัทธา แต่เมื่อตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง กลับกลายเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา โดยยอมขายศาสนาเพื่อแลกกับความสุขอันจอมปลอมเพียงน้อยนิด ณ โลกดุนยา” (บันทึกโดย มุสลิม หะดีษเลขที่ 118)

ท่านอิบนุอับบาส เล่าว่า ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กล่าวกับเศาะฮาบะฮ์-อัครสาวกท่านหนึ่งว่า

« اغْتَنِمْ خَمْسًا قَبْلَ خَمْسٍ: شَبَابَكَ قَبْلَ هَرَمِكَ، وَصِحَّتَكَ قَبْلَ سَقَمِكَ، وَغِنَاكَ قَبْلَ فَقْرِكَ، وَفَرَاغَكَ قَبْلَ شُغُلِكَ، وَحَيَاتَكَ قَبْلَ مَوْتِكَ » رواه الحاكم برقم 7844

ความว่า “ท่านจงฉกฉวยประโยชน์จากห้าประการ ก่อนที่อีกห้าประการจะมาถึง วัยหนุ่มของท่านก่อนความชราจะมาถึง สุขภาพดีของท่านก่อนที่จะเกิดการเจ็บป่วย ความร่ำรวยของท่านก่อนที่จะมีความยากจน เวลาว่างของท่านก่อนที่จะมีภารกิจยุ่งเหยิง และการมีชีวิตอยู่ของท่านก่อนความตายจะมาถึง” (บันทึกโดย อัลฮากิม หะดีษเลขที่ 7844)

พี่น้อง ผู้ได้รับความรักและเมตตาธรรม ทั้งหลาย

ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า “หัวใจของทุกคนนั้น บางช่วงเวลามีความกระตือรือร้น ต้องการที่จะทำความดี แต่ในบางเวลาก็อาจถดถอย ดังนั้น พวกท่านจงฉวยโอกาสขณะที่หัวใจมีความกระตือรือร้น มุ่งมั่นแสวงหาความดีงามให้มากที่สุด และยามใดที่หัวใจอ่อนล้า ถดถอย ก็จงหยุดพัก ณ  ช่วงเวลาหนึ่ง”

อัลลอฮ์ (สุบฯ) ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งให้เป็นเครื่องประดับเเละมีเป้าหมาย ดังเช่นพืชพรรณธัญญาหารมีกิ่งก้าน ใบ เเละดอกเป็นของประดับ มีเป้าหมายคือ เมล็ดเเละผล เสื้อผ้าอาภรณ์ก็เป็นเครื่องประดับ เเต่เป้าหมายคือการปกปิด โลกดุนยาก็เช่นกัน ถือเป็นสิ่งประดับ ทุกสรรพสิ่งที่อยู่ในโลกนี้ ล้วนเป็นสิ่งประดับ ส่วนเป้าหมายในโลกนี้คือ การมีอีหม่าน-ศรัทธา เเละการประกอบคุณงามความดี เมื่อโลกดุนยาเป็นสิ่งประดับ ส่วนเป้าหมายคือโลกอาคิเราะฮ์ เเละผู้ที่หลงลืมเป้าหมายโดยยึดติดกับการประดับประดา ในขณะเดียวกันบรรดานบีเเละผู้ที่ปฏิบัติตามเเนวทางของท่าน ทุกคนมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย ส่วนผู้ที่ยึดติดอยู่กับโลกดุนยา พวกเขาจะมีความมุ่งมั่นกับการประดับประดา ตกแต่งความเพลิดเพลินกับสิ่งที่ไร้สาระ ในขณะที่อัลลอฮ์ (สุบฯ) ทรงใช้เราให้แสวงหาดุนยาเพียงเท่าที่มีความจำเป็น และให้มุ่งมั่นการประกอบคุณงามความดีเพื่อโลกอาคิเราะฮ์ให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะปฏิบัติได้

อย่างไรก็ตาม การที่อัลลอฮ์ (สุบฯ) ทรงประทานความสุขและความทุกข์ให้แก่มนุษย์นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับระดับของอีหม่าน-ศรัทธาและการประกอบคุณงามความดีของแต่ละคนเป็นสำคัญ หรือขึ้นอยู่กับการปฏิเสธและการประกอบความชั่วแห่งตน ดังนั้น มุอ์มิน-ผู้ศรัทธาที่สามารถดำรงตนอยู่ในการประกอบความดีตามที่อัลลอฮ์ (สุบฯ) และเราะซูลุลลลอฮ์ (ศ็อลฯ) ใช้ เขาก็จะมีความสุขในโลกดุนยา และจะมีความสุขเพิ่มขึ้นขณะที่เขาเสียชีวิต โดยมะลาอิกะฮ์จะสื่อสารข่าวดีในสิ่งที่เขาพึงปรารถนา ต่อจากนั้น ความสุขก็จะเพิ่มขึ้น เมื่อเขาอยู่ในกุโบร์-หลุมฝังศพ และจะเพิ่มเต็มเปี่ยม เมื่อได้พำนักอยู่ ณ สรวงสวรรค์ของพระองค์

ดังที่อัลลอฮ์ (สุบฯ) ได้ตรัสว่า

مَنۡ  عَمِلَ  صَٰلِحًا  مِّن  ذَكَرٍ  أَوۡ  أُنثَىٰ  وَهُوَ  مُؤۡمِنٌ  فَلَنُحۡيِيَنَّهُۥ  حَيَوٰةً  طَيِّبَةً  وَلَنَجۡزِيَنَّهُمۡ  أَجۡرَهُم  بِأَحۡسَنِ  مَا  كَانُواْ  يَعۡمَلُونَ

ความว่า “ผู้ใดปฏิบัติความดี ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง โดยที่เขาเป็นผู้ศรัทธา ดังนั้น เราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี และแน่นอน เราจะตอบแทนพวกเขา ซึ่งรางวัลสำหรับพวกเขาที่ดียิ่งกว่าที่พวกเขาได้ปฏิบัติ”  (อัลนะห์ลุ 16 : 97)

พี่น้องที่รักทั้งหลาย บทสรุปจากคุตบะฮ์ในวันนี้ มีดังต่อไปนี้

  1. เราเกิดมาเป็นมุสลิม ต้องใช้ชีวิตในสายธารศรัทธาของอิสลาม ตั้งแต่เกิดจนถึงวันสุดท้ายแห่งชีวิต
  2. อัลลอฮ์ (สุบฯ) ทรงรังสรรค์เรามา เพื่อให้เราได้ประกอบอะมัลอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ทุกรูปแบบ ซึมซับด้วยอีหม่าน-ศรัทธา เรียนรู้สรรพวิทยาการทั้งหลาย เพื่อการเติมชีวิตสู่การปฏิบัติตนและใช้ชีวิตเฉกเช่น          “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา”อย่างยั่งยืน
  3. ช่วงชีวิตของแต่ละคนนั้น เป็นไปตามกำหนดอาญัลของอัลลอฮ์ (สุบฯ) ถึงแม้สังคมวันนี้จะเป็นสังคมผู้สูงอายุก็ตาม แต่บทบาทและภารกิจของมุอ์มิน-ผู้ศรัทธานั้นคือ การมุ่งมั่นปฏิบัติตนสู่คุณงามความดี โดยถือเป็นวาระเร่งด่วนของประชาคมมุอ์มิน-ผู้ศรัทธา เป็นสำคัญ

ขออัลลอฮ์ (สุบฯ) ได้โปรดประทานทางนำและความสำเร็จแห่งชีวิตแก่เราด้วยเถิด อามีน         

أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ فَاسْتَغْفِرُوْهُ  إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ

ดาวน์โหลด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top