วันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม 2567 26:09 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> ผู้ศรัทธากับทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิต
ผู้ศรัทธากับทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

ผู้ศรัทธากับทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

คุฎบะฮ์วันศุกร์

เรื่อง ผู้ศรัทธากับทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิต

ผศ.ดร. วิศรุต  เลาะวิถี

إِنَّ الْحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَعِيْنُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَعُوْذُ بِاللهِ مِنْ شُرُوْرِ أَنْفُسِنَا وَسَيّئَاتِ أَعْمَالِنَا مَنْ يَهْدِهِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْهُ فَلاَ هَادِيَ لَهُ، اَلْحَمْدُ ِللهِ رَبِّ الْعَالَمِيْنَ القَائِلِ : (قُلْ اِنَّ الْمَوْتَ الَّذِيْ تَفِرُّوْنَ مِنْهُ فَاِنَّهٗ مُلٰقِيْكُمْ ثُمَّ تُرَدُّوْنَ اِلٰى عَالِمِ الْغَيْبِ وَالشَّهَادَةِ فَيُنَبِّئُكُمْ بِمَا كُنْتُمْ تَعْمَلُوْنَ) أَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلهَ إِلاّ اللهُ وَأَشْهَدُ أَنّ مُحَمّدًا عَبْدُهُ وَرَسُوْلُهُ ،

صَلَّى اللهُ عَلَى أَشْرَفِ الأَنْبِيَاءِ وَالْمُرْسَلِيْنَ نَبِيِّنَا مُحَمَّدٍ وَعَلَى آلِهِ وَأَصْحَابِهِ وَمَنْ سَارَ عَلَى نَهْجِهِ القَوِيْمِ ، وَدَعَا إِلَى الصِّرَاطِ الْمُسْتَقِيْمِ إِلَى يَوْمِ الدِّيْنِ وَسَلَّمَ تَسْلِيْمًا كَثِيْرًا

أَمَّا بَعْدُ ، فَيَا عِبَادَ اللهِ أُوْصِيْكُمْ وَإِيَّايَ بِتَقْوَى اللهِ فَقَدْ فَازَ الْمُتَّقُوْنَ

พี่น้อง ผู้มีหัวใจผูกพันกับอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ที่รักทั้งหลาย

          ณ เบื้องต้นนี้ ขออนุญาตย้ำเตือนตนเองและพี่น้องทุกท่าน ให้หัวใจของเราเปี่ยมล้นด้วย “ตักวา” ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ซุบฮา ฯ อย่างยั่งยืน แน่นอน ตักวา” นั้น เป็นคำภาษาอาหรับสั้น ๆ แต่มีความหมายแฝงเร้นกับการเป็นมุอ์มิน-ผู้ศรัทธาอย่างยิ่ง  เพราะ ตักวา” ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญคู่กับสถานภาพของการเป็น มุอ์มิน” อย่างแนบแน่น เพราะการเป็นมุอ์มิน-ผู้ศรัทธา ที่ได้รับการซึมซับ ตอกย้ำด้วยตักวาอย่างลุ่มลึกและคมชัด ย่อมจะน้อมนำทุกคนให้ได้รับการยกย่องและเชิดชูว่าเป็น ปูชนียบุคคล”ที่มีเกียรติ และมีความประเสริฐยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนัยของอัลกุรอาน ดังนี้

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ

          ความว่า แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในหมู่พวกเจ้า ที่อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในหมู่พวกเจ้า” (อัลฮุจรอต : 13)

พี่น้อง ผู้มีหัวใจเปี่ยมล้นด้วยตักวา ทั้งหลาย

          อิสลามเป็นศาสนาแห่งมนุษยชาติ โดยมี “อัลกุรอาน” เป็นธรรมนูญชีวิตของผู้ศรัทธา  เป็นคัมภีร์ที่นำเสนอ “ทางนำ” สำหรับมนุษยชาติเพื่อการดำรงตนสู่ความสำเร็จในชีวิตได้อย่างครบวงจร

แน่นอน ความสำเร็จในนิยามของอิสลามกับนิยามของมนุษย์ ย่อมมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ นัยแห่งอิสลาม ความสำเร็จในชีวิตย่อมมีความครอบคลุมทุกเรื่อง และทุกมิติของชีวิต เริ่มตั้งแต่จิตวิญญาณ กระบวนการคิด พฤติกรรมการแสดงออก รวมทั้งชีวิตหลังความตาย แต่ความสำเร็จตามนัยของมนุษย์ หมายถึง ความสำเร็จในรูปของวัตถุ ยศถาบรรดาศักดิ์ ตำแหน่งทางสังคม หรือทรัพย์สินเงินทอง และขีดวงเฉพาะในโลกดุนยานี้เท่านั้น

อีกนัยหนึ่ง เราอาจยอมรับว่า มนุษย์ทุกคนล้วนแสวงหาความสำเร็จในชีวิตของแต่ละคน บางคนอาจยังไม่เข้าใจว่า ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่นั้น มีอยู่ในโลกอาคิเราะฮ์ด้วย ดังนั้น เมื่อมนุษย์มีมุมมองไม่ชัดเจน หรือไม่เห็นความสำคัญของโลกอาคิเราะฮ์ ย่อมขาดการเตรียมสะสมคุณงามความดี ณ โลกดุนยา ซึ่งจะน้อมนำสู่ทิศทางแห่งความสำเร็จ กลับมีแต่ความคิด หรือแสดงพฤติกรรมวนเวียนอยู่ในวงแคบ ๆ เช่น คิดอยากร่ำรวย อยากมีชื่อเสียง หรืออยากมีตำแหน่งทางสังคม เป็นต้น

พี่น้อง ผู้แสวงหาความสำเร็จในชีวิต ทั้งหลาย

          ความสำเร็จในชีวิตที่อัลลอฮ์ ซุบฮา ฯ ทรงเรียกร้องเชิญชวนผู้ศรัทธาทั้งหลาย คือ ความสำเร็จแห่งโลกอาคิเราะฮ์ เพราะเป็นโลกแห่งจีรัง ยั่งยืน และผู้ที่ประสบความสำเร็จในโลกอาคิเราะฮ์นั้น ถือว่าเป็นผู้ที่ได้รับชัยชนะอย่างแท้จริง และจะได้รับสรวงสวรรค์เป็นสิ่งตอบแทน

อย่างไรก็ตาม คงมิได้หมายความว่า ผู้ศรัทธาต้องทิ้งภารกิจในโลกดุนยาทั้งหมด หรือไม่สนใจใยดีกับความสำเร็จ ณ โลกดุนยาแต่อย่างใด ก็หาใช่ไม่ ประเด็นสำคัญก็คือ หากผู้ศรัทธาให้ความสำคัญกับความสำเร็จในโลกอาคิเราะฮ์แล้ว ต้องไม่ละทิ้งภารกิจ และการแสวงหาความสำเร็จในโลกดุนยานี้ด้วย เพราะโลกดุนยา ถือเป็นทางผ่าน เพื่อการสั่งสมคุณงามความดีทุกรูปแบบ และนำไปสู่จุดหมายสุดท้ายที่ใฝ่ฝัน ณ โลกอาคิเราะฮ์ ดังปรากฏนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

وَٱبۡتَغِ  فِيمَآ  ءَاتَىٰكَ  ٱللَّهُ  ٱلدَّارَ  ٱلۡأٓخِرَةَۖ  وَلَا  تَنسَ  نَصِيبَكَ  مِنَ  ٱلدُّنۡيَاۖ

        ความว่า “และจงแสวงหาสิ่งที่อัลลอฮ์ได้ประทานแก่เจ้าเพื่อโลกอาคิเราะฮ์ และอย่าลืมส่วนของเจ้าแห่งโลกดุนยานี้” (อัลเกาะศ็อส : 77)

          ยิ่งกว่านั้น  การใช้ชีวิตในสังคม ณ โลกดุนยานี้ ประเด็นหนึ่งที่เราย่อมปฏิเสธมิได้คือ การคบค้าสมาคมกับเพื่อนสมาชิกในสังคม เพราะการมีเพื่อน หรือคบเพื่อน นับแต่เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนร่วมสังคม ท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลฯ มีคำสอนให้อุมมะฮ์-ประชาคมของท่าน พึงตระหนักรู้โดยการเลือกมิตรสหายที่เป็นคนดี จึงจะนำพาสู่การประสบความสำเร็จในชีวิตได้

มีรายงานจากอบีมูซา อัลอัชอารีย์ จากท่านนบีย์ ศ็อล ฯ ได้กล่าวว่า :

إِنَّمَا مَثَلُ الْجَلِيْسِ الصَّالِحِ وَجَلِيْسِ السُّوءِ: كَحَامِلِ الْمِسْكِ، وَنَافِخِ الْكِيْرِ، فَحَامِلُ الْمِسْكِ إِمَّا أَنْ يُحْذِيَكَ، وَإِمَّا أَنْ تَبْتَاعَ مِنْهُ، وَإِمَّا أَنْ تَجِدَ مِنْهُ رِيْحًا طَيِّبَةً، ونَافِخُ الْكِيْرِ إِمَّا أَنْ يَحْرِقَ ثِيَابَكَ، وإمَّا أَنْ تَجِدَ مِنْهُ رِيحًا مُنْتِنَةً : متفق عليه

          ความว่า “เพื่อนที่ดีและเพื่อนที่ไม่ดีนั้น เปรียบได้กับคนขายน้ำหอมและช่างตีเหล็ก กล่าวคือ คนขายน้ำหอม เขาอาจจะมอบน้ำหอมให้แก่ท่าน หรือไม่ท่านก็อาจจะซื้อน้ำหอมจากเขา หรืออย่างน้อยท่านก็คงได้รับกลิ่นหอมจากเขาบ้าง ในขณะที่ช่างตีเหล็กนั้น เขาอาจทำให้เสื้อผ้าของท่านถูกไฟเผาไหม้ หรือไม่ท่านก็อาจพลอยได้กลิ่นอันน่ารังเกียจไปด้วย”

          จากหะดีษข้างต้น ท่านอิหม่าม นะวะวีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮ์ ได้อธิบายว่า

          “ท่านนบี ศ็อล ฯ ได้เปรียบเทียบเพื่อนที่ดี เหมือนคนขายน้ำหอม ส่วนเพื่อนที่ไม่ดีนั้น เหมือนช่างตีเหล็ก และยังบอกถึงความประเสริฐของการคบเพื่อนที่ดี คนทำความดีทั้งหลาย คนสุภาพเรียบร้อย คนที่มีมารยาทที่ดี คนที่เคร่งครัดต่อหลักการศาสนา คนที่มีความรู้ และคนที่มีมารยาท หะดีษบทนี้ก็ยังห้ามการคบเพื่อนที่ไม่ดี คนทำความชั่วทั้งหลาย คนที่ใส่ร้ายผู้อื่น คนที่ชอบประพฤติชั่ว คนที่เกียจคร้านมาก ๆ ตลอดจน  ผู้ที่มีพฤติกรรม มีนิสัยที่ถูกตำหนิในทำนองเดียวกันอีกด้วย”  

พี่น้องผู้เปี่ยมล้นด้วยความรักต่อท่านเราะซูล ศ็อล ทั้งหลาย

          คุณลักษณะของ “อัลฟะลาห์” และ “มุฟลิฮูน” หมายถึง ความสำเร็จ และผู้ประสบความสำเร็จ นั้น มีปรากฏว่าได้รับการกล่าวถึงในอัลกุรอานหลายแห่ง พอประมวลได้ ดังนี้

  1. ตักวา หรือ ความยำเกรง

คำว่า “ตักวา” หมายถึง ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ซุบฮา ฯ ถือเป็นลักษณะแรกที่มีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์กับการมเป็นมุอ์มิน – ผู้ศรัทธา อย่างแนบแน่น ดังปรากฏนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

وَٱتَّقُواْ  ٱللَّهَ  لَعَلَّكُمۡ  تُفۡلِحُونَ

          ความว่า “พวกเจ้าจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ

 (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 189)

          ทั้งนี้ พระองค์ทรงกำชับเรื่องนี้กับผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า

يَٰٓأَيُّهَا  ٱلَّذِينَ  ءَامَنُواْ  ٱتَّقُواْ  ٱللَّهَ  وَٱبۡتَغُوٓاْ  إِلَيۡهِ  ٱلۡوَسِيلَةَ  وَجَٰهِدُواْ  فِي  سَبِيلِهِۦ  لَعَلَّكُمۡ  تُفۡلِحُونَ

          ความว่า “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงยำเกรงต่ออัลลอฮ์เถิด และจงแสวงหาสื่อไปสู่พระองค์ และจงต่อสู้และเสียสละในทางของอัลลอฮ์เถิด เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัลมาอิดะฮ์ : 35)

          จากนัยของอายะฮ์อัลกุรอานดังกล่าว ย่อมชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างตักวากับความสำเร็จอย่างชัดเจน จึงเป็นไปมิได้ที่ผู้แสวงหาความสำเร็จในโลกอาคิเราะฮ์ จะหลีกเลี่ยงหรือละเลยไม่สนใจ “ตักวา” ดังนั้น จึงถือเป็นวาระสำคัญที่เราทุกคน ต้องทบทวนและตอกย้ำความรู้ ความเข้าใจแห่งความหมายของคำนี้ พร้อมกับการปฏิบัติตนให้มั่นคงอยู่ในแนวทางแห่ง “ตักวา” เสมอ เพื่อซึมซับความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่อัลลอฮ์ซุบฮาฯ ได้ทรงสัญญาไว้ในอัลกุรอานนั่นเอง

  1. การมุ่งมั่นสู่การประกอบคุณงามความดีอยู่เสมอ

อิสลาม มิใช่ศาสนาแห่งความเชื่อหรือการมีศรัทธาเพียงอย่างเดียว และการศรัทธาที่ไม่มีการประพฤติปฏิบัติคุณงานความดีแบบคู่ขนาน ก็ไม่ถือว่าเป็นการศรัทธาที่สมบูรณ์ ดังนั้น ทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิตที่อัลลอฮ์ ซุบฮาฯ ทรงสัญญาไว้ ต้องมีความพร้อมด้วยการปฏิบัติคุณงามความดีทุกรูปแบบ ควบคู่การซึมซับ    อีหม่าน-ศรัทธาที่มั่นคงและแนบแน่นอยู่เสมอ อีกประการหนึ่ง อาจกล่าวได้ว่า ผู้ที่มุ่งมั่นการประกอบคุณงามความดีนั้น ย่อมเป็นดัชนีชี้วัดให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เป็นมุอ์มิน-ผู้ศรัทธาด้วยความบริสุทธิ์ใจ และมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติคุณงามความดีสม่ำเสมอ นั่นคือ ทิศทางสู่ความสำเร็จในชีวิตของผู้ศรัทธาอย่างแท้จริง ดังปรากฏนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

وَٱلۡوَزۡنُ  يَوۡمَئِذٍ  ٱلۡحَقُّۚ  فَمَن  ثَقُلَتۡ  مَوَٰزِينُهُۥ  فَأُوْلَٰٓئِكَ  هُمُ  ٱلۡمُفۡلِحُونَ

          ความว่า “และการชั่งเป็นความจริง ผู้ใดที่ตราชูของเขาหนัก ชนเหล่านี้แหละคือ ผู้ที่ได้รับความสำเร็จ” (อัลอะอ์รอฟ : 8)

          และอีกอายะห์หนึ่งที่พระองค์ทรงกำชับให้ผู้ศรัทธาพึงตระหนักรู้ในการประกอบการภักดีทุกรูปแบบ ดังนี้

       يَٰٓأَيُّهَا  ٱلَّذِينَ  ءَامَنُواْ  ٱرۡكَعُواْ  وَٱسۡجُدُواْۤ  وَٱعۡبُدُواْ  رَبَّكُمۡ  وَٱفۡعَلُواْ  ٱلۡخَيۡرَ لَعَلَّكُمۡ  تُفۡلِحُونَ

          ความว่า “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าจงรุกั๊วะ จงสุญูด และจงเคารพภักดีต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด และจงประกอบความดี เพื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ” (อัลฮัจญ์ : 77)

พี่น้องที่รักทั้งหลาย

บทสรุปสำหรับคุฏบะฮ์ในวันนี้ คือ

  1. ความสำเร็จในชีวิต ตามความคิดของมนุษย์จะมุ่งเน้นการแสวงหาปัจจัยด้านวัตถุเป็นส่วนใหญ่ ส่วนความสำเร็จตามนัยอิสลาม มุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาสะสมคุณงามความดี และปฏิบัติตามข้อห้าม ข้อใช้ เป็นสำคัญ เพื่อการได้รับสรวงสวรรค์เป็นรางวัลตอบแทน ณ โลกอาคิเราะฮ์
  2. ความสำเร็จในชีวิต ตามคำสอนอิสลาม ล้วนมุ่งเน้นให้ผู้ศรัทธาปฏิบัติคุณงามความดีและใช้ชีวิต ณ โลกดุนยานี้ ในฐานะผู้มีความยำเกรง – มุตตะกีน อย่างยั่งยืน เพื่อความสำเร็จ ณ โลกอาคิเราะฮ์
  3. การ “เติมเต็ม” และ “ซึมซับ” หัวใจแห่งผู้ศรัทธา ด้วย “ตักวา” รวมทั้งการมุ่งมั่นปฏิบัติ คุณงามความดีอยู่เสมอ ต้องเริ่มต้นที่ตนเอง ครอบครัว ชุมชนมัสยิด และสังคมทุกระดับ ถือเป็นวาระเร่งด่วนของ “ประชาคมผู้ศรัทธา” อย่างแท้จริง

بَارَكَ اللهُ لِيْ وَلَكُمْ فِي الْقُرْآنِ الْكَرِيْمِ ، وَنَفَعَنِي اللهُ وَإِياَّكُمْ بِمَا فِيْهِ مِنَ اْلآياَتِ وَالذِّكْرِ الْحَكِيْمِ ، أَقُوْلُ قَوْلِيْ هَذَا وَأَسْتَغْفِرُ اللهَ لِيْ وَلَكُمْ وَلِسَائِرِ الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتِ ، فَاسْتَغْفِرُوْهُ  إِنَّهُ هُوَ الْغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ

ดาวน์โหลด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top