วันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 18:40 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> เราะมะฎอน : เดือนที่ผู้ศรัทธารอคอย
เราะมะฎอน : เดือนที่ผู้ศรัทธารอคอย

เราะมะฎอน : เดือนที่ผู้ศรัทธารอคอย

คุตบะฮ์วันศุกร์

เรื่อง “เราะมะฎอน : เดือนที่ผู้ศรัทธารอคอย”

                                                                          ผศ.ดร.วิศรุต เลาะวิถี

إِنَّ الْحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَسْتَعِينُهُ وَنَسْتَهْدِيهِ وَنَعُوذُ بِاللهِ مِنْ شُرُورِ أَنْفُسِنَا وَمِنْ سَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا ، مَنْ يَهْدِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلاَ هَادِيَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ ، مَنْ بَعَثَهُ اللهُ رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ هَادِيًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا ، بَلَّغَ الرِّسَالَةَ وَأَدَّى الأَمَانَةَ وَنَصَحَ الأُمَّةَ فَجَزَاهُ اللهُ عَنَّا خَيْرَ مَا جَزَى نَبِيًّا مِنْ أَنْبِيَائِهِ ، صَلَوَاتُ اللهِ وَسَلاَمُهُ عَلَيْهِ وَعَلَى كُلِّ رَسُولٍ أَرْسَلَهُ ،

        أَمَّا بَعْدُ فَيَا عِبَادَ اللهِ ، أُوصِيكُمْ وَنَفْسِيَ بِتَقْوَى اللهِ الْعَلِيِّ الْقَدِيرِ الْقَائِلِ فِي مُحْكَمِ كِتَابِهِ : يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُون

ขอความศานติและความจำเริญแห่งอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา จงประสบแด่ท่านพี่น้องผู้มีเกียรติทุกท่าน

พี่น้อง ผู้มีหัวใจผูกพันกับอัลลอฮ์ (ซุบฯ) ที่รักทั้งหลาย

          ณ เบื้องต้นนี้ ขออนุญาตย้ำเตือนตนเองและพี่น้องทุกท่าน ให้ยกระดับ “หัวใจ” ของเราสู่ความ   มุ่งมั่นและเปี่ยมล้นด้วย “ตักวา” โดยบ่มเพาะและซึมซับความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างยั่งยืน แน่นอน  ตักวา”  นั้น เป็นคำภาษาอาหรับสั้น ๆ แต่มีความหมายแฝงเร้นแห่งการเป็น “มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา” อย่างยิ่ง และมีนัยตรงกับคำจำกัดความที่ว่า امتثال الاوامر/ واجتناب النواهي

สำหรับคำนิยามของข้อความที่ว่า امتثال الاوامر/ واجتناب النواهي  นั้น ขอเรียนว่า หมายถึง การปฏิบัติตนตามบัญชาใช้ และละเว้น หรือห่างไกลจากบรรดาข้อบัญญัติห้ามทั้งหลาย ทั้งปวง ตามคำสอนอิสลามโดยสิ้นเชิง

คำว่าตักวา” ย่อมมีนัยแห่งความหมายที่สอดคล้องกับสถานภาพของการเป็น “มุอ์มิน – ผู้ศรัทธา” อย่างล้ำลึกและแนบแน่น เพราะการเป็น “มุอ์มิน- ผู้ศรัทธา” ที่ได้รับการซึมซับและตอกย้ำด้วย “ตักวา” ให้ปรากฎชัดเจนแล้ว ย่อมจะเป็นปัจจัยสำคัญสู่การบ่มเพาะและน้อมนำให้มุอ์มิน – ผู้ศรัทธาทุกคน ได้รับการยกย่องและประกาศเกียรติคุณว่าเป็น ปูชนียบุคคล” ที่มีเกียรติและประเสริฐยิ่ง ซึ่งสอดรับกับนัยของอัลกุรอาน ดังนี้

إِنَّ أَكْرَمَكُمْ عِندَ ٱللَّهِ أَتْقَىٰكُمْ

          ความว่า “แท้จริง ผู้ที่มีเกียรติยิ่งในกลุ่มพวกเจ้า ณ อัลลอฮฺนั้น คือผู้ที่มีความยำเกรงยิ่งในกลุ่ม        พวกเจ้า” (อัลฮุจรอต : 13)

พี่น้อง ผู้มีศรัทธามั่นต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทั้งหลาย

ขณะนี้ เรามีชีวิตอยู่ในห้วงเวลาของเดือนเราะมะฎอนอันประเสริฐ  ซึ่งเป็นเดือนที่มีความพิเศษสุดสำหรับมุอ์มิน- ผู้ศรัทธา และเป็นเดือนที่มุอ์มิน-ผู้ศรัทธา ต่างรอคอย เพราะเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานมาสู่มนุษยชาติ เพื่อประกาศทางนำชีวิตที่สมบูรณ์และครบวงจร ตามนัยแห่งอัลกุรอาน ดังนี้

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ

     ความว่า “เดือนเราะมะฎอนเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานมา เพื่อเป็นแนวทางแก่มนุษยชาติ และเพื่อจำแนกระหว่างทางนำและความจริงกับความเท็จ”  (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์  อายะฮ์ที่ 185)

นอกจากนี้ อัลลอฮ์ (ซุบฯ) ได้ทรงบัญญัติการประกอบคุณงาม ความดีต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบำเพ็ญถือศีลอดไว้ในเดือนเราะมะฎอน ดังปรากฏในอัลกุรอาน ดังนี้

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُون

     ความว่า “โอ้ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่สูเจ้าทั้งหลายแล้ว ดังที่ได้ถูกบัญญัติแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนสูเจ้า เพื่อสูเจ้าจะมีความยำเกรง”  (อัลบะเกาะเราะฮ์ : 183)

ยิ่งกว่านั้น ขอเรียนเพิ่มเติมว่า วาระแห่งสุดประเสริฐนี้ เป็นห้วงเวลาที่อุมมะฮ์-ประชาคมผู้ศรัทธา      รอคอยด้วยหัวใจที่มุ่งมั่น กล่าวคือ เป็นห้วงเวลาที่ทรงคุณค่าและเปี่ยมล้นแห่งความจำเริญ-บะเราะกัตอย่างยิ่ง เราะมะฎอน เป็นเดือนแห่งความเมตตา  เป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เป็นเดือนแห่งการขอดุอาอ์ เป็นเดือนแห่งการขออภัยโทษ เป็นเดือนแห่งการทำกุศลทานหรือเศาะดาเกาะฮ์  และเป็นเดือนแห่งการแบ่งปัน ดังนั้น การปฏิบัติความดีจะได้รับการตอบแทนหลายเท่าทวีคูณ ความผิดจะได้รับการอภัยโทษ การวิงวอนขอดุอาอ์       จะได้รับการตอบรับ  และสิ่งที่ถือเป็นความเมตตาสูงสุดสำหรับเดือนเราะมะฎอน คือ เป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ถูกเปิด และประตูนรกถูกปิด นั่นหมายถึง การต้อนรับมุอ์มิน – ผู้ศรัทธาที่รอคอยห้วงเวลาแห่งเราะมะฎอนเพื่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) เป็นสำคัญ

พี่น้อง ผู้ศรัทธา ที่รักทั้งหลาย

การถือศีลอดในอิสลามนั้น ได้รับความสนใจในวงการแพทย์อย่างกว้างขวาง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นได้จากมีการจัดประชุมนานาชาติในหัวข้อ “สุขภาพกับเดือนเราะมะฎอน” หลายครั้ง โดยเฉพาะ        ในปี ค.ศ.1994 ณ รัฐคาซาบลังกา ประเทศโมรอคโค มีการนำเสนอผลการรักษาทางการแพทย์ด้วยการถือ     ศีลอดจากงานวิจัย มากถึง 50 เล่ม ในปี ค.ศ.1997 มีการศึกษาระบบในร่างกาย โดยพบว่า การถือศีลอดช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจจากหลอดเลือดตีบ ด้วยการลดระดับไขมันเลว (LDL) ได้ 8% และไตรกลีเซอไรด์ (Tg) ได้ถึง 30% ในขณะเดียวกัน การถือศีลอดยังช่วยเพิ่มไขมันดี (HDL) ได้ 14.3% อีกด้วย ซึ่งเป็นผลการศึกษาที่ตรงกับคำสอนของท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ดังนี้

صُوْمُوْا تَصِحُّوْا” رواه الطبراني

ความว่า“ท่านทั้งหลาย จงถือศีลอด แล้วสุขภาพของพวกท่านจะดี”

นอกจากนี้ การถือศีลอดในอิสลาม ยังมีนักวิทยาศาสตร์สุขภาพ ได้ศึกษาวิจัยและค้นพบว่า มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 7 ประการ ที่จะได้รับในระหว่างและหลังเดือนเราะมะฎอน ดังต่อไปนี้

  1. อินทผลัม การรับประทานอินทผลัมสามเม็ดช่วงเริ่มต้นของการละศีลอดทุกวันในช่วงเดือน เราะมะฎอน ด้วยเหตุผลทางจิตวิญญาณแล้ว ยังได้รับโบนัสเพิ่มเติมของประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ หนึ่งจากแง่มุมที่สำคัญที่สุดของการอดอาหารคือ การได้รับพลังงานในปริมาณที่เหมาะสม และเมื่อพิจารณาถึงการบริโภคอินทผลัม โดยเฉลี่ยจะมีคาร์โบไฮเดรต 31 กรัม (มากกว่า 1 ออนซ์) จึงเป็นหนึ่งในอาหารที่สมบูรณ์แบบที่จะช่วยเพิ่มพลัง และเป็นหนึ่งในผลไม้ที่ดียิ่งต่อสุขภาพ
  2. เพิ่มพลังสมอง คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เราจะตระหนักถึงผลดีของการถือศีลอดที่มีต่อสุขภาพจิต และการมีสมาธิจดจ่ออยู่กับจิตวิญญาณ แต่พลังในการกระตุ้นสมองของเดือนเราะมะฎอนมีความสำคัญมากกว่าที่คิด การศึกษาวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาพบว่า การจดจ่อกับจิตที่เกิดขึ้นในช่วง เราะมะฎอนจะเพิ่มระดับของปัจจัย “นิวโรโทรฟิค” ที่ได้รับจากสมอง ซึ่งทำให้ร่างกายผลิตเซลล์สมองเพิ่มขึ้น และจะทำให้การทำงานของสมองดีขึ้น
  3. ทิ้งนิสัยที่ไม่ดี เนื่องจากเราต้องถือศีลอดในระหว่างวัน เราะมะฎอนจึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะละทิ้งนิสัยที่ไม่ดีของเราไปสู่สิ่งที่ดี ไม่ควรเสพสิ่งที่สร้างความเสื่อมโทรมต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ และอาหารที่มีน้ำตาลในช่วงเดือนเราะมะฎอน และเมื่อเราละเว้นจากสิ่งเหล่านี้ ร่างกายของเราจะค่อย ๆ ปรับตัวให้ชินกับตน จนกว่าอาการเสพติดหรือความอยากจะหมดไป
  4. ลดคอเลสเตอรอล เราทุกคนทราบดีว่า การลดน้ำหนักเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ทางกายภาพที่เป็นไปได้ของการถือศีลอดในช่วงเราะมะฎอน แต่ยังมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสุขภาพอีกมากมาย ทีมแพทย์โรคหัวใจในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์พบว่า ผู้ที่ถือศีลอดในเดือนเราะมะฎอนมีผลในเชิงบวกต่อระดับไขมัน ซึ่งหมายความว่า มีการลดคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย
  5. ลดความอยากอาหารอย่างถาวร ปัญหาหลักประการหนึ่งของการคุมอาหารแบบสุดโต่งคือ น้ำหนักที่หายไป มักจะถูกดึงกลับมาใช้ใหม่อย่างรวดเร็ว บางครั้งก็เพิ่มพิเศษเล็กน้อยด้วยซ้ำ นี่ไม่ใช่กรณีของเดือนเราะมะฎอน การลดลงของอาหารที่บริโภค ตลอดจนการอดอาหาร ทำให้กระเพาะของเราค่อย ๆ หดตัว หมายความว่า เราจะต้องรับประทานอาหารน้อยลง นั่นเอง
  6. ล้างพิษ เราะมะฎอนยังทำหน้าที่เป็น “ดีท็อกซ์” ที่ยอดเยี่ยมสำหรับร่างกายของเราอีกด้วย การไม่กินหรือดื่มตลอดทั้งวัน ร่างกายของเราจะได้รับโอกาสล้างพิษระบบย่อยอาหารได้ตลอดทั้งเดือน
  7. ดูดซับสารอาหารได้มากขึ้น การไม่รับประทานอาหารตลอดวันในช่วงเดือนเราะมะฎอน จะพบว่า ระบบเผาผลาญของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งหมายถึงปริมาณสารอาหารที่ดูดซึมจากอาหารจะดีขึ้น เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนที่เรียกว่า “Adiponectin” ซึ่งผลิตขึ้นจากการอดอาหารและการรับประทานอาหารตอนดึกร่วมกัน ยังจะช่วยให้กล้ามเนื้อของเราดูดซึมสารอาหารได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อสุขภาพทั่วร่างกาย เนื่องจากส่วนต่าง ๆ สามารถดูดซึมและใช้ประโยชน์จากสารอาหารที่จำเป็นต่อการทำงานได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม การถือศีลอดที่มีศรัทธามั่น ด้วยกระบวนการของการถือศีลอดอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ว่าด้วยกาย วาจา หรือจิตใจ กล่าวคือ ไม่แสดงพฤติกรรม การพูดจา และคิดในสิ่งที่ไร้สาระหรือไม่เหมาะสมในฐานะผู้บำเพ็ญศีลอดแล้ว การกระทำที่เป็นบาปต่าง ๆ ก่อนจากนี้ จะได้รับการอภัยจากอัลลอฮ์ (ซุบฯ) ทั้งสิ้น ดังปรากฏนัยแห่งคำสอนที่ว่า

مَن صامَ رَمَضانَ إيمانًا واحْتِسابًا غُفِرَ له ما تَقَدَّمَ مِن ذَنْبِهِ

ความว่า “ผู้ใดถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ด้วยความศรัทธาและหวังผลตอบแทน บาปในอดีตของเขาจะได้รับการอภัยโทษ”

พี่น้อง ผู้มีจิตผูกพันกับเราะมะฎอน ที่รักทั้งหลาย

จากสาระข้อมูลที่นำเสนอมาตามลำดับนั้น ขออนุญาตสรุปประเด็นสำคัญสำหรับคุฏบะฮ์ในวันนี้ มีดังนี้

  1. เราะมะฎอน เดือนนี้ที่รอคอย เป็นเดือนที่มีคุณค่าและมีความหมายยิ่งสำหรับชีวิตของมุอ์มิน- ผู้ศรัทธา เป็นเดือนแห่งอัลกุรอาน เป็นเดือนแห่งการขออภัยโทษ และเป็นเดือนแห่งสร้างสมอิบาดะฮ์-การภักดีต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างมีคุณานุประโยชน์ยิ่ง
  2. เราะมะฎอน เป็นเดือนที่มีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มและซึมซับจิตวิญญาณของมุอ์มิน-ผู้ศรัทธา เป็นอเนกประการ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับตักวา-จิตแห่งความยำเกรงอย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง
  3. การถืออศีลอดแห่งเราะมะฎอน ท่านนบีมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ทรงย้ำเตือนแก่เราว่า การถือศีลอดช่วยส่งเสริมสุขภาพที่ดี และนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพยังได้ค้นพบอีกว่า มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้ถือศีลอด 7 ประการ ได้แก่ คุณค่าทางอาหารของอินทผลัม การเพิ่มพลังสมอง การละทิ้งนิสัยที่ไม่ดี ช่วยลดคอเลสเตอรอล ช่วยลดความอยากอาหาร ช่วยล้างพิษ และช่วยดูดซับอาหารได้มากขึ้น

ในโอกาสนี้ ขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) ได้โปรดประทานความเมตตาแด่พี่น้องมุอ์มิน-ผู้ศรัทธาทุกท่าน ให้ได้รับคุณความดีแห่งเราะมะฎอน ณ วาระนี้ อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ และการแสดงออกแห่งอะมัลอิบาดะฮ์-การประกอบการภักดีทั้งหลาย ทั้งปวง จงมีผลต่อการยกระดับจิตแห่งตักวา-ความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ (ซุบฯ) อย่างแนบแน่น มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป อามีน

  أَقُوْلُ قَوْلِي هَذَا وَاسْتَغْفِرُ اللهَ الْعَظِيْمَ لِي وَلَكُمْ ، وَلِسَائِر الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتَ مِنْ كُلِّ ذَنْبٍ ، وَاسْتَغْفِرُوْهُ اِنَّهُ هُوَ الغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ  .

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top