วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน 2567 15:39 น.
ประชาสัมพันธ์
Home >> บทความศาสนา >> คุตบะห์ >> รอมฎอนเดือนอันประเสริฐ
รอมฎอนเดือนอันประเสริฐ

รอมฎอนเดือนอันประเสริฐ

คุตบะฮ์วันศุกร์

เรื่อง รอมฎอนเดือนอันประเสริฐ

อ.มูนีร (สมศักดิ์) มูหะหมัด

إِنَّ الْحَمْدَ للهِ نَحْمَدُهُ وَنَسْتَغْفِرُهُ وَنَسْتَعِينُهُ وَنَسْتَهْدِيهِ وَنَعُوذُ بِاللهِ مِنْ شُرُورِ أَنْفُسِنَا وَمِنْ سَيِّئَاتِ أَعْمَالِنَا ، مَنْ يَهْدِ اللهُ فَلاَ مُضِلَّ لَهُ ، وَمَنْ يُضْلِلْ فَلاَ هَادِيَ لَهُ، وَأَشْهَدُ أَنْ لاَ إِلَهَ إِلاَّ اللهُ وَحْدَهُ لاَ شَرِيكَ لَهُ ، وَأَشْهَدُ أَنَّ مُحَمَّدًا عَبْدُهُ وَرَسُولُهُ ، مَنْ بَعَثَهُ اللهُ رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ هَادِيًا وَمُبَشِّرًا وَنَذِيرًا ، بَلَّغَ الرِّسَالَةَ وَأَدَّى الأَمَانَةَ وَنَصَحَ الأُمَّةَ فَجَزَاهُ اللهُ عَنَّا خَيْرَ مَا جَزَى نَبِيًّا مِنْ أَنْبِيَائِهِ ، صَلَوَاتُ اللهِ وَسَلاَمُهُ عَلَيْهِ وَعَلَى كُلِّ رَسُولٍ أَرْسَلَهُ ،

        أَمَّا بَعْدُ فَيَا عِبَادَ اللهِ ، أُوصِيكُمْ وَنَفْسِيَ بِتَقْوَى اللهِ الْعَلِيِّ الْقَدِيرِ الْقَائِلِ فِي مُحْكَمِ كِتَابِهِ : يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُون

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

ส่วนหนึ่งจากความเมตตาที่พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงประทานให้แก่ปวงบ่าวคือ พระองค์ทรงประทานความประเสริฐให้สถานที่หนึ่งมีความประเสริฐกว่าอีกสถานที่หนึ่ง และให้กาลเวลาหนึ่งประเสริฐกว่าอีกกาลเวลาหนึ่ง  พระองค์ทรงกำหนดให้มัสยิดอัลฮะรอม ณ นครมักกะฮ์ มีความประเสริฐกว่าสถานที่ใดในโลก  โดยที่การปฏิบัติการละหมาดในมัสยิดอัลฮะรอมจะได้รับภาคผลมากกว่าการละหมาดในสถานที่อื่นถึง 100,000 เท่า และทรงกำหนดให้เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่มีความประเสริฐกว่าเดือนอื่น ๆ ในรอบ 1 ปี  เพราะเดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานมา  ดังที่พระองค์ตรัสว่า

شَهْرُ رَمَضَانَ الَّذِي أُنزِلَ فِيهِ الْقُرْآنُ هُدًى لِلنَّاسِ وَبَيِّنَاتٍ مِنَ الْهُدَى وَالْفُرْقَانِ

     “เดือนรอมฎอนเป็นเดือนที่คัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานมา เพื่อเป็นแนวทางแก่บรรดามนุษย์และเพื่อแยกแยะระหว่างทางนำและการจำแนกระหว่างความจริงกับความเท็จ”  ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์  อายะฮ์ที่ 185

         ขณะเดียวกันพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ก็ทรงบัญญัติการประกอบความดีต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งการถือศีลอดไว้ในเดือนรอมฎอน  พระองค์ตรัสว่า

يَٰٓأَيُّهَا ٱلَّذِينَ ءَامَنُواْ كُتِبَ عَلَيْكُمُ ٱلصِّيَامُ كَمَا كُتِبَ عَلَى ٱلَّذِينَ مِن قَبْلِكُمْ لَعَلَّكُمْ تَتَّقُون

     โอ้ ผู้ที่ศรัทธาแล้วทั้งหลาย การถือศีลอดได้ถูกบัญญัติแก่สูเจ้าทั้งหลายแล้ว ดังที่ได้ถูกบัญญัติแก่บรรดาผู้ที่มาก่อนพวกสูเจ้า เพื่อพวกสูเจ้าจะยำเกรง”  ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ อายะฮ์ที่ 183

          และในอีกอายะฮ์หนึ่งว่า

فَمَنْ شَهِدَ مِنْكُمُ الشَّهْرَ فَلْيَصُمْهُ

      ดังนั้น ผู้ใดจากพวกสูเจ้ารู้ว่าเข้าเดือน (รอมฎอน) แล้ว  เขาจงถือศีลอด  ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์  อายะฮ์ที่ 185

ขณะนี้ประชาชาติอิสลามกำลังอยู่ในช่วงของการรอคอยต้อนรับเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเดือนแห่งบะรอกะฮ์หรือความจำเริญ เป็นเดือนแห่งความเมตตา การปฏิบัติความดีจะได้รับการตอบแทนหลายเท่าทวีคูณ ความผิดจะได้รับการอภัยโทษ การวิงวอนขอดุอาอ์จะได้รับการตอบสนอง เป็นเดือนที่ประตูสวรรค์ถูกเปิด ประตูนรกถูกปิด นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้บอกข่าวดีถึงเดือนนี้ไว้ในหะดีษของท่าน  จากอบูฮุรอยเราะฮ์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

             أَتَاكُمْ رَمَضَانُ شَهْرٌ مُبَارَكٌ، فَرَضَ اللَّهُ عَزَّ وَجَلَّ عَلَيْكُمْ صِيَامَهُ، تُفْتَحُ فِيهِ أَبْوَابُ السَّمَاءِ، وَتُغْلَقُ فِيهِ أَبْوَابُ الْجَحِيمِ، وَتُغَلُّ فِيهِ مَرَدَةُ الشَّيَاطِين ،  فِيهِ لَيْلَةٌ خَيْرٌ مِنْ أَلْفِ شَهْرٍ، مَنْ حُرِمَ خَيْرَهَا فَقَدْ حُرِمَ

     รอมฎอน เดือนแห่งความจำเริญมายังพวกท่านแล้ว  อัลลอฮ์ (อัซซะวะญัล) บัญญัติการถือศีลอดในเดือนนี้แก่พวกท่าน  ในเดือนนี้บรรดาประตูฟากฟ้า (สวรรค์) จะถูกเปิด และบรรดาประตูนรกจะถูกปิด  บรรดาหัวหน้าของชัยฏอนจะถูกล่ามโซ่  ในเดือนนี้มีคืนหนึ่งที่ดีกว่า 1,000 เดือน (คือ ลัยละตุลก็อดร์) ผู้ใดมีอุปสรรคขัดขวางในการทำความดีในคืนนี้ แท้จริง เขาถูกระงับ (ไม่ให้ได้รับความดี)”

บันทึกโดย อะหมัดและอันนะซาอีย์

ด้วยเหตุนี้ จึงสมควรที่มุสลิมทั้งหลายจะฉวยโอกาสอันดีในเดือนนี้ ในการปฏิบัติอิบาดะฮ์ ในการขอดุอาอ์ ในการเตาบัตตัว มีจิตใจมุ่งอยู่กับอัลลอฮ์ มีความอิคลาศ(บริสุทธิ์ใจ)ในการถือศีลอด ในการละหมาดตะรอเวียะห์ ในการเลี้ยงอาหารละศีลอด การทำศ่อดะเกาะฮ์  การอ่านอัลกุรอาน การเดินทางไปประกอบพิธีอุมเราะฮ์ เพราะการทำอุมเราะฮ์ในเดือนรอมฏอนจะได้รับผลบุญอย่างมากมาย จากอิบนิอับบาส  ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูลุลลอฮ์ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

عُمرةٌ في رَمضانَ تَعدِلُ حَجَّةً مَعِي . رواه البخاري ومسلم

อุมเราะฮ์ในรอมฎอน (ได้รับผลบุญ) เท่ากับการทำฮัจญ์พร้อมกับฉันบันทึกโดยอัล บุคอรีย์และมุสลิม

และทำความดีต่าง ๆ เพื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

إِنَّ اللَّهَ لا يَقْبَلُ مِن الْعَمَلِ إِلا مَا كَانَ لَهُ خَالِصًا وَابْتُغِيَ بِهِ وَجْهُهُ

           แท้จริง อัลลอฮ์จะไม่รับการงาน นอกจากมีความบริสุทธิ์ใจเพื่อพระองค์ และหวังในการปฏิบัติต่อพระพักตร์ของพระองค์”  บันทึกโดย อันนซาอีย์

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

พระองค์อัลลอฮ์ทรงบัญญัติการถือศีลอดแก่บรรดามุสลิมในเดือนชะอ์บาน ปี ฮ.ศ. 2 โดยเป็นรุก่นอิสลามประการที่สี่  ซึ่งก่อนหน้านี้มีการถือศีลอดในวันอาชูรออ์  มีรายงานว่า เมื่อนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เดินทางไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ก็พบว่าชาวยิวถือศีลอดในวันอาชูรออ์ ท่านจึงถามถึงการถือศีลอดในวันนี้  พวกเขากล่าวว่า  เป็นวันที่พระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงให้นบีมูซาและกลุ่มชนของเขาปลอดภัยและทรงทำให้ฟาโรห์และกลุ่มชนของเขาจมน้ำตาย นบีมูซาจึงถือศีลอดเพื่อขอบคุณพระองค์อัลลอฮ์ และเราจึงถือศีลอดตามท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

نَحْنُ أَوْلَى بمُوسَى مِنكُم فأمَرَ بصَوْمِهِ

       เราสมควรที่จะปฏิบัติตามนบีมูซายิ่งกว่าพวกท่าน แล้วท่านก็ใช้ให้ถือศีลอดในวันอาซูรออ์

บันทึกโดยมุสลิม

เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงบัญญัติการถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นการถือศีลอดวาญิบ ดังนั้น การถือศีลอดในวันอาชูรออ์จึงเป็นการถือศีลอดซุนนะฮ์

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนเป็นอิบาดะฮ์ที่ยิ่งใหญ่  เพราะพระองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา    จะทรงตอบแทนด้วยพระองค์เอง พระองค์ได้ตรัสไว้ในหะดีษกุดซีย์ว่า

قالَ اللَّهُ : كُلُّ عَمَلِ ابْنِ آدَمَ لَهُ إلَّا الصِّيَامَ؛ فَإِنَّهُ لِيْ، وأَنَا أَجْزِي بِهِ، والصِّيَامُ جُنَّةٌ، وإذَا كانَ يَوْمُ صَوْمِ أحَدِكُمْ فَلاَ يَرْفُثْ ولَا يَصْخَبْ، فإنْ سَابَّهُ أحَدٌ أوْ قَاتَلَهُ، فَلْيَقُلْ : إنِّي امْرُؤٌ صَائِمٌ.  وَالَّذِى نَفْسُ مُحَمَّدٍ بِيَدِهِ ، لَخُلُوفُ فَمِ الصَّائِمِ أَطْيَبُ عِنْدَ اللَّهِ مِن رِيْحِ الْمِسْكِ  ، لِلصَّائِمِ فَرْحَتَانِ يَفْرَحُهُمَا:  إذَا أفْطَرَ فَرِحَ، وإذَا لَقِيَ رَبَّهُ فَرِحَ بصَوْمِهِ.

      อัลลอฮ์ตรัสว่า การงานทั้งหมดของลูกหลานอาดัมเป็นของเขา นอกจากการถือศีลอด แท้จริงมันเป็นของข้าและข้าจะตอบแทนมัน การถือศีลอดคือ โล่ป้องกัน เมื่อถึงวันถือศีลอดของคนหนึ่งจากพวกท่าน เขาไม่พูดจาหยาบโลนและไม่ทำในสิ่งที่เลวร้าย ดังนั้น ถ้าหากว่าคนหนึ่งด่าทอเขาหรือวิวาทกับเขา เขาจงพูดว่า แท้จริง ฉันเป็นผู้ถือศีลอด ขอสาบานด้วยผู้ที่ชีวิตของมุฮัมมัดอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ แน่นอน กลิ่นปากของผู้ถือศีลอดมีความหอม อัลลอฮ์ ยิ่งกว่ากลิ่นชะมดเชียง สำหรับผู้ถือศีลอดจะดีใจใน สถาน คือ ดีใจเมื่อเขาละศีลอด และดีใจเมื่อเขาพบกับพระผู้เป็นเจ้าของเขา

บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม

การถือศีลอดมีเงื่อนไขและข้อบัญญัติที่แน่นอน ซึ่งจำเป็นที่มุสลิมผู้ถือศีลอดจะต้องเรียนรู้และสร้าง   ความเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อจะทำให้การถือศีลอดของเขามีความถูกต้องสมบูรณ์ เพื่อเขาจะได้รับการตอบแทนโดยครบถ้วน  การถือศีลอดเป็นอิบาดะฮ์ภายใน ไม่มีผู้ใดรู้ได้ว่า เขาถือศีลอดนอกจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เท่านั้น  ผิดกับการละหมาด  การจ่ายซะกาต  การประกอบพิธีฮัจญ์ ฯลฯ  อิบาดะฮ์เหล่านั้นแสดงให้ผู้อื่นเห็นได้ด้วยการปฏิบัติ การถือศีลอดเริ่มด้วยการเหนียต (ตั้งเจตนา) ติดตามด้วยการอดอาหารและเครื่องดื่มตั้งแต่แสงอรุณขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า โดยมีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติเพื่อพระองค์อัลลอฮ์ตะอาลา

เป้าหมายในการถือศีลอดคือ การสร้างความยำเกรงให้แก่บุคคลและเป็นวิธีการในการขัดเกลาจิตใจให้สะอาดผ่องใส  นักวิชาการได้ระบุถึงประโยชน์ของการถือศีลอดไว้อีก กล่าวคือ

–  การถือศีลอดเป็นแนวทางหนึ่งของการขอบคุณในความเมตตาของพระองค์อัลลอฮ์ที่ทรงประทานให้ ซึ่งเป็นอิบาดะฮ์ที่มีคุณค่ายิ่ง ถ้าบุคคลใดละทิ้งการถือศีลอด เขาจะเกิดความเสียดายอย่างแน่นอนในภายหลัง  เพราะบุคคลจะไม่รู้ถึงคุณค่าของสิ่งใดจนกว่าสิ่งนั้นจะหายไปจากเขา

– การถือศีลอดจะเป็นแนวทางหนึ่งที่ยับยั้งมิให้บุคคลทำความชั่ว ในเมื่อบุคคลไม่ทำความชั่ว ก็เท่ากับว่า เขาไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามของพระองค์อัลลอฮ์ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

– การถือศีลอดเป็นสาเหตุให้บุคคลมีความรู้สึกถึงความทุกข์ยากของคนยากจนขัดสนและผู้ด้อยฐานะ  ทำให้ความเมตตาสงสารต่อผู้ยากไร้เกิดขึ้นภายในจิตใจของผู้ถือศีลอด

–  การถือศีลอดเป็นหนทางทำให้บุคคลตระหนักถึงการรอบรู้ของพระองค์อัลลอฮ์ต่อการกระทำของเขา  แม้ว่าเขาจะอยู่ตามลำพังไม่มีผู้ใดเห็นก็ตาม  ทำให้เขาไม่กล้าที่จะทำความชั่ว

พี่น้องผู้ศรัทธาทั้งหลาย

เดือนรอมฎอนที่จะมาพบกับท่านทั้งหลายอีกวาระหนึ่งในไม่ช้านี้ ข้าพเจ้าขอดุอาอ์ต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ได้ทรงโปรดประทานให้เราทั้งหลายมีสุขภาพแข็งแรงและมีพลานามัยที่สมบูรณ์ เพื่อจะได้ปฏิบัติความดีตลอดเดือนนี้ และได้โปรดให้เรามีอายุยืนยาวเพื่อจะได้ปฏิบัติอิบาดะฮ์ต่อพระองค์ตลอดไป  อามีน

           أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الْشَيْطَانِ الْرَجِيْمِ ) مَنْ عَمِلَ صَالِحًا فَلِنَفْسِهِ ، وَمَنْ أَسَاءَ فَعَلَيْهَا، وَمَا رَبُّكَ بِظَلَّامٍ لِلْعَبِيْدِ(  أَقُوْلُ قَوْلِي هَذَا وَاسْتَغْفِرُ اللهَ الْعَظِيْمَ لِي وَلَكُمْ ، وَلِسَائِر الْمُسْلِمِيْنَ وَالْمُسْلِمَاتِ وَالْمُؤْمِنِيْنَ وَالْمُؤْمِنَاتَ مِنْ كُلِّ ذَنْبٍ ، وَاسْتَغْفِرُوْهُ اِنَّهُ هُوَ الغَفُوْرُ الرَّحِيْمُ  .

ดาวน์โหลด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

*

กรุณาเติมคำตอบในช่องว่างก่อนเข้าระบบ *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

Scroll To Top